เมนู

8. ควัมปติเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระควัมปติเถระ


[175] ได้ยินว่า พระควัมปติเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันนอบน้อม
พระควัมปติ ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์
ไม่ติดอยู่ในกิเลส และตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่ง
อะไรทั้งสิ้น เป็นผู้ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวง เป็น
มหามุนี ผู้ถึงฝั่งแห่งภพ.

อรรถกถาควัมปติเถรคาถา


คาถาของท่านพระควัมปติเถระเริ่มต้นว่า โย อิทฺธิยา สรภุํ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ท่านเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ ในกัปที่ 31 แต่ภัทรกัปนี้ เห็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี
มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชาด้วยดอกไม้. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดใน
เทวโลก กระทำบุญไว้มากอย่าง ให้สร้างฉัตร และไพรที ไว้บนเจดีย์ของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โกนาคมนะ. ก็ท่านบังเกิดในเรือนมี
ตระกูลแห่งใดแห่งหนึ่ง ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า
กัสสปะ. ก็ในตระกูลนั้น ได้มีฝูงโคเป็นอันมาก. พวกนายโคบาลก็เฝ้ารักษา

ฝูงโคนั้น ถึงมาณพผู้นี้ ก็เที่ยวตรวจดูกิจกรรมที่พวกนายโคบาลขวนขวาย
ประกอบแล้ว ทุกซอกมุมในฝูงโคนั้น. เขาเห็นพระเถระผู้ขีณาสพรูปหนึ่ง
เที่ยวบิณฑบาตในบ้าน แล้วทำภัตกิจนอกบ้าน ณ ประเทศแห่งหนึ่งทุก ๆ วัน
คิดว่า พระคุณเจ้าจักลำบาก ด้วยความร้อนของแดด ดังนี้ จึงให้ยกท่อนซึก
4 ท่อน มาวางซ้อนกิ่งซึก 4 กิ่ง บนต้นซึกเหล่านั้น ได้กระทำสาขามณฑป
ถวายแล้ว. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปลูกต้นซึกไว้ใกล้มณฑป เพื่อจะ
อนุเคราะห์เขา พระเถระจึงนั่งใต้ต้นซึกนั้นทุก ๆ วัน.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาจุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว บังเกิดในวิมานชั้น
จาตุมหาราชิกะ. ป่าไม้ซึกใหญ่อันระบุถึงกรรมเก่าของเขาเกิดใกล้ประตูวิมาน
มีดอกไม้เหล่าอื่นที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น เข้าไปช่วยเสริมความงามทุกฤดูกาล
ด้วยเหตุนั้น วิมานนั้นจึงปรากฏนามว่า " เสรีสกวิมาน". เทวบุตรนั้นท่องเที่ยว
ไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอดพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้
เป็นผู้มีชื่อว่า ควัมปติ ในบรรดาสหายผู้เป็นคฤหัสถ์ทั้ง 4 ของพระยสเถระ
สดับว่า ท่านพระยสบวชแล้ว จึงได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อม
ด้วยสหายของตน. พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว ในเวลาจบพระ-
ธรรมเทศนา เขาดำรงอยู่ในอรหัตผล พร้อมด้วยสหายทั้งหลาย. สมดังคาถา
ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เมื่อก่อนเราเป็นพรานเนื้อเที่ยวอยู่ในป่า ได้พบ
พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี ทรงรู้จบธรรมทั้งปวง
เรามีจิตเลื่อมใส โสมนัสในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประกอบไปด้วยพระมหากรุณา ทรงยินดีในประ-
โยชน์ เกื้อกูลสรรพสัตว์ จึงได้บูชาด้วยดอกอัญชัน

เขียว ในกัปที่ 31 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้า
ด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ในอัญชนวัน
เมืองสาเกต. ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จไปยังเมืองสาเกต แล้วประทับอยู่ในพระวิหารอัญชนวัน เสนาสนะไม่พอ
อาศัย. ภิกษุเป็นอันมากพากันนอนที่เนินทราย ริมน้ำสรภู ใกล้ ๆ พระวิหาร
ครั้งนั้น เมื่อห้วงน้ำหลากมาในเวลาเที่ยงคืน พวกสามเณรเป็นต้น ส่งเสียงร้อง
ดังลั่น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว สั่งท่านพระควัมปติไปว่า
ดูก่อนควัมปติ เธอจงไปจงสะกด (ข่ม) ห้วงน้ำไว้ ทำให้ภิกษุทั้งหลายอยู่
อย่างสบาย. พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วสะกด
กระแสน้ำให้หยุดด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ห้วงน้ำนั้นได้หยุดตั้งอยู่ดุจยอดเขา แต่
ไกลทีเดียว. จำเดิมแต่นั้นมา อานุภาพของพระเถระ ได้ปรากฏแล้วในโลก.
ครั้นวันหนึ่ง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระเถระ นั่งท่ามกลางเทว-
บริษัทจำนวนมาก แล้วแสดงธรรมอยู่ เมื่อจะทรงสรรเสริญพระเถระ เพื่อ
ประกาศคุณของท่าน ด้วยความอนุเคราะห์สัตวโลก จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันนอบน้อมพระ
ควัมปติ ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์
ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่ออะไร
ทั้งสิ้น เป็นผู้ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นมหามุนี
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธิยา ได้แก่ ฤทธิที่สำเร็จด้วยอธิฏฐาน.
บทว่า สรภุํ ได้แก่ แม่น้ำที่มีนามอย่างนี้ว่า สรภู ตามที่กล่าวขานเรียกกัน
ในโลก. บทว่า อฏฐเปสิ ความว่า บังคับไม่ให้น้ำไหล คือให้ไหลกลับ ให้
ตั้งอยู่เป็นกองน้ำใหญ่ ดุจยอดเขา.
บทว่า อสิโต ตัดบทเป็น น สิโต แปลว่าไม่ติดอยู่ คือเว้นจาก
กิเลสเป็นที่อาศัย คือตัณหาและทิฏฐิ หรือไม่ผูกพัน ด้วยกิเลสเครื่องผูกพัน
แม้ไร ๆ เพราะถอนสังโยชน์กล่าวคือกิเลสเป็นเครื่องผูกพันทั้งหมดได้ ต่อ
แต่นั้นเทวดาและมนุษย์แม้ทั้งปวง ก็พากันนอบน้อมพระควัมปติ ผู้ชื่อว่า
ไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีกิเลสเครื่องหวั่นไหวทั้งหลาย ผู้ผ่านพ้นเครื่องข้อง
ทั้งปวง นั้นคือผู้เช่นนั้น ชื่อว่าผู้พ้นเครื่องข้องทั้งปวง เพราะก้าวล่วงธรรม
เป็นเครื่องข้องคือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิเสียได้แล้วตั้งอยู่
ชื่อว่าเป็นมหามุนี เพราะเป็นมุนีผู้อเสกขะ ต่อแต่นั้น ชื่อว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง
แห่งภพ เพราะถึงพระนิพพาน อันเป็นฝั่งแห่งภพ แม้ทั้งสิ้น อันต่างด้วย
กามภพ และกรรมภพเป็นต้น. บทว่า เทวา นมสฺสนฺติ ความว่า แม้
เทวดาทั้งหลาย ยังนอบน้อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงสัตว์นอกนี้.
ในเวลาจบพระคาถา ธรรมาภิสมัยได้มี แก่หมู่ชนเป็นอันมาก. พระ
เถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล ก็ได้กล่าว คาถานี้แหละ ด้วยคิดว่า เรา
จักบูชาพระศาสดา ดังนี้.
จบอรรถกถาควัมปติเถรคาถา

9. ติสสเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระติสสเถระ


[176] ได้ยินว่า พระติสสเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
บุรุษถูกแทงด้วยหอก หรือถูกไฟไหม้ที่กระหม่อม
แล้วรีบรักษาฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติเว้นรอบ เพื่อ
ความกำหนัด ยินดีในกามฉันนั้น.

อรรถกถาติสสเถรคาถา


คาถาของท่านพระติสสเถระ เริ่มต้นว่า สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระ
พุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ เข้าไปสั่งสมบุญ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ไว้ใน
ภพนั้น ๆ นำใบไม้เก่า ๆ ที่โคนไม้อันเป็นที่ตรัสรู้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระนามว่า ติสสะ ออกแล้วชำระสะสางจนสะอาด. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่าน
ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นโอรสของพระปิตุจฉา ของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยนาม มี
ชื่อว่า ติสสะ.
ท่านบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า อุปสมบทแล้วอยู่ในราวป่า อาศัย
พระชาติ มีการถือตัว มากไปด้วยความโกรธ และความคับแค้น และมากไป
ด้วยการยกโทษเที่ยวไป ไม่ทำการขวนขวายในสมณะธรรม.