เมนู

ปรมัตถทีปนี
อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา


คันถารัมภกถา


ข้าพเจ้าขอไหว้พระโลกนาถเจ้า ผู้มีพระทัย
เปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จถึงฝั่งแห่ง
สาครคือไญยธรรมได้แล้ว ทรงแสดงธรรมอันละเอียด
ลึกล้ำ มีนัยอันวิจิตร.
ข้าพเจ้าขอไหว้พระธรรมอันสูงสุด ที่สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชาแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องนำผู้
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะออกไปจากโลก.
ข้าพเจ้าขอไหว้พระอริยสงฆ์ ผู้สมบูรณ์ด้วย
คุณมีศีลเป็นต้น สถิตมั่นอยู่ในมรรคและผล เป็น
เนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม.
ด้วยเดชานุภาพแห่งบุญ ที่เกิดจากการไหว้-
พระรัตนตรัย ดังได้พรรณนามานี้ ขอข้าพเจ้าจงปลอด
จากอันตรายในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ. คาถา
เหล่านั้นใด ที่ปราศจากอามิส อันพระเถระทั้งหลาย
ผู้เสร็จกิจแล้ว ผู้คงที่ มีพระสุภูติเถระเป็นต้น และ
พระเถรีทั้งหลายภาษิตแล้ว และคาถาเหล่าใด ที่ลึกล้ำ
ละเอียดอ่อน สดับแล้วโดยวิธี มีอุทานเป็นต้น ปฏิ-
สังยุตด้วยสุญญตธรรม ประกาศธรรมของพระอริยเจ้า

พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ผู้คงที่ ผู้แสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ รวบรวมคาถาเหล่านั้นไว้ ในคัมภีร์
ขุททกนิกาย โดยเรียกชื่อว่า เถรคาถา และ เถรคาถา.
อันที่จริงการแต่งอรรถกถา พรรณนาความลำดับบทที่
มีอรรถอันลึกซึ้ง ที่ข้าพเจ้าทำ มิใช่ของที่ทำได้ง่ายเลย
เพราะเป็นอรรถที่จะพึงหยั่งถึงได้ ก็ด้วยคัมภีรญาณ
แต่เพราะอรรถกถาจะช่วยทรงศาสนาของพระศาสดา
ไว้ได้ ทั้งวินิจฉัยของบรรดาบุรพาจารย์ ผู้เปรียบปาน
ด้วยราชสีห์ ก็จะยังคงดำรงอยู่ด้วย ฉะนั้น ข้าพเจ้า
จึงจักขอแต่งอรรถกถา "เถรคาถา" และ "เถรีคาถา"
เต็มกำลังความสามารถ โดยจะยึดวินิจฉัยของบรรดา
บุรพาจารย์นั้นเป็นหลัก ถือนิกาย 5 เป็นเกณฑ์ อิง
อาศัยนัยจากโบราณอรรถกถา แม้จะเป็นเพียงคำบอก
กล่าว ที่ได้อาศัยอ้างอิงกันมา แต่บริสุทธิ์ก็ถูกต้อง
ไม่คลาดเคลื่อน เป็นการวินิจฉัยที่ละเอียด ของบรรดา
บุรพาจารย์คณะมหาวิหาร และข้อความของคาถา
เหล่าใด เว้นอนุปุพพิกถาเสียแล้วรู้ได้ยาก ข้าพเจ้า
จะนำอนุปุพพิกถานั้น ของคาถาเหล่านั้น มาแสดงให้
แจ่มแจ้ง ทั้งจะแสดงข้อวินิจฉัยอีกด้วย.
สาธุชนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายได้โปรด
ตั้งใจสดับ การพรรณนาความแห่งอรรถกถา เถรคาถา
และเถรีคาถานั้น ซึ่งจะจำแนกต่อไป ของข้าพเจ้าผู้
หวังให้พระสัทธรรมดำรงมั่นอยู่ได้นาน ต่อไปเทอญ.

อารัมภกถาวรรณนา


ก็เถรคาถา และเถรีคาถา แต่ละคาถาเป็นอย่างไร ? และมีประวัติ
เป็นมาอย่างไร ? ถึงความข้อนี้ ท่านจะกล่าวไว้ในคาถาทั้งหลายแล้วก็จริง
แต่เถรคาถาที่พระสุภูติเถระเป็นต้น กล่าวแล้วในคาถานั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวซ้ำ
อีก เพื่อทำข้อความให้ปรากฏ. ก็พระเถระเหล่านั้นพิจารณาเห็นสุขอันเกิดแต่
มรรคผล ตามที่ตนบรรลุแล้ว ได้กล่าวคาถาบางอย่างไว้ ด้วยสามารถแห่ง
อุทาน ได้กล่าวคาถาบางอย่างด้วยสามารถแห่งการพิจารณาธรรมเป็นเครื่องอยู่
คือสมาบัติของตน ได้กล่าวคาถาบางอย่างไว้ด้วยสามารถแห่งคำถาม ได้กล่าว
คาถาบางอย่างไว้ด้วยสามารถ (ชี้ให้เห็น) ข้อที่คำสอนเป็นนิยยานิกธรรม. ใน
เวลาทำสังคายนา พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ร้อยกรองคาถาทั้งหมด
เหล่านั้นไว้ เป็นหมวดเดียวกัน (โดยให้ชื่อ) ว่า " เถรคาถา ". ส่วนเถรีคาถา
ท่านแสดงไว้เฉพาะพระเถรีทั้งหลาย.
ก็ในบรรดาปิฎกทั้ง 3 คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก
คาถาเหล่านั้น นับเนื่องในสุตตันตปิฎก. ในบรรดานิกายทั้ง 5 คือ ทีฆนิกาย
มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย (และ) ขุททกนิกาย คาถาเหล่านั้น
นับเนื่องในขุททกนิกาย. ในบรรดาสัตถุศาสน์ 9 คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ สงเคราะห์เข้าเป็น
" คาถา ". ก็ในบรรดาธรรมขันธ์ 84,000 ธรรมขันธ์ ที่พระอานนทเถระ
ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก ปฏิญาณไว้อย่างนี้ว่า