เมนู

2. สุปปิยเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสุปปิยเถระ


[169] ได้ยินว่า พระสุปปิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
บุคคลผู้มีความเพียร ถึงจะแก่ แต่เผากิเลสให้
เร่าร้อน พึงบรรลุนิพพานอันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส
เป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม.


อรรถกถาสุปปิยเถรคาถา


คาถาของท่านพระสุปปิยเถระเริ่มต้นว่า อชรํ ชีรมาเนน. เรื่องราว
ของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ
ท่านเกิดในเรือนมีตระกูล บวชเป็นดาบส อยู่ในราวป่า เห็นพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า ในราวป่านั้น มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลาผล แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
และแก่ภิกษุสงฆ์.
ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
แล้วเกิดในตระกูลกษัตริย์ ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า
กัสสปะ ถึงความเป็นผู้รู้โดยลำดับ ได้ความสังเวช โดยอาศัยคบหากัลยาณมิตร
บวชในพระศาสนา ได้เป็นพหูสูต ท่านทั้งยกตน ทั้งข่มผู้อื่น เพราะความ
เมาในชาติ และเพราะความเมาใน สุตะ อยู่แล้ว.

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดในตระกูลคนเฝ้าป่าช้า อันเป็นตระกูล
ที่คนเหยียดหยาม ในพระนครสาวัตถี ด้วยผลแห่งกรรมนั้น. ท่านได้มีนามว่า
สุปปิยะ ครั้งนั้น ท่านถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เข้าไปหาพระโสปากเถระผู้เป็น
สหายของตน ฟังธรรมในสำนักของพระโสปากเถระนั้น แล้วได้ความสังเวช
บวชแล้ว บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติ ได้ภาษิตคาถาว่า
บุคคลผู้มีความเพียร ถึงจะแก่ แต่เผากิเลสให้
เร่าร้อน พึงบรรลุนิพพาน อันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส
เป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชรํ ได้แก่ เว้นจากชรา. ท่านกล่าว
หมายถึงพระนิพพาน. อธิบายว่า พระนิพพานนั้น ชื่อว่า ไม่แก่ เพราะเหตุที่
พระนิพพานนั้นไม่มีเกิด จึงไม่มีแก่ หรือชื่อว่าไม่แก่ แม้เพราะเหตุที่ไม่มี
ความแก่ เพราะเมื่อบุคคลบรรลุพระนิพพานนั้นแล้ว ชรานั้นย่อมไม่มี.
บทว่า ชิรมาเนน ความว่าแก่อยู่ คือถึงความแก่เข้าไปทุก ๆ ขณะ.
บทว่า ตปฺปมาเนน ความว่า เผากิเลสให้เร่าร้อน คือ ยังไฟ
11 กองมีราคะเป็นต้นให้ไหม้อยู่.
บทว่า นิพฺพุตึ ได้แก่พระนิพพาน อันชื่อว่า มีการดับกิเลสเป็น
สภาพ เพราะไม่มีความเร่าร้อน ตามที่กล่าวแล้ว.
บทว่า นิมิยํ ความว่า พึงให้เป็นไป คือ พึงเลือกสรร.
บทว่า ปรมํ สนฺตึ ความว่า ชื่อว่า สงบอย่างสูง เพราะเข้าไป
สงบความกระวนกระวายแก่อภิสังขาร คือ กิเลสที่เหลือได้เป็นธรรมดา.
ชื่อว่าเกษมจากโยคะ เพราะไม่ถูกผูกพันด้วยโยคะทั้ง 4.
ชื่อว่ายอดเยี่ยม เพราไม่มีธรรมอะไร ๆ ที่จะเหนือกว่าตนไปได้.

ก็ในคาถานี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้ บุคคลชื่อว่าแก่ เพราะความ
เป็นผู้อันชราครอบงำอยู่ทุก ๆ ขณะ อนึ่ง ชื่อว่าถึงความชรา เพราะถูกไฟ
คือ ราคะเป็นต้นเผาผลาญ ชื่อว่า มีอุปัทวะ. เพราะความเป็นผู้ยังไม่เข้าไป
สงบระงับโดยประการทั้งปวง โดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และไม่มีสาระอย่างนี้
พึงบรรลุพระนิพพานที่ชื่อว่า ไม่แก่ เพราะความเป็นปฏิปักษ์ต่อชรานั้น
อันเป็นแดนเข้าไปสงบระงับอย่างยิ่ง อันอะไร ๆ เข้าไปประทุษร้ายไม่ได้
ยอดเยี่ยม ไม่มีอามิส กลับได้คิดว่า ลาภก้อนใหญ่ โผล่ขึ้นอยู่ในเงื้อมมือ
เรามากมายจริงหนอ ดังนี้. เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย แลกเปลี่ยนสินค้า
อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สนใจ (ไม่เพ่งเล็ง) ย่อมได้รับความพอใจ สินค้าที่ตน
ได้มา ฉันใด พระเถระนี้ก็ฉันนั้น เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่. เมื่อจะประกาศ
ความที่ตน ไม่เพ่งเล็งในกายและชีวิตของตน และความที่ตนมีใจอันส่งไปสู่
พระนิพพาน จึงกล่าวว่า พึง บรรลุพระนิพพานอันไม่รู้จักแก่ ไม่มีอามิส
เป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เกษมจากโยคะ ยอดเยี่ยม ดังนี้ เพิ่มพูนข้อปฏิบัติ
นั้นแลอยู่ ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์
ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ครั้งนั้น เราเป็นพราหมณ์ มีนามว่า วรุณ
เป็นผู้เรียนจบมนต์ ทิ้งบุตร 10 คนเข้าไปกลางป่า
สร้างอาศรมอย่างสวยงาม สร้างบรรณศาลจัดไว้เป็น
ห้อ ง ๆ น่ารื่นรมย์ใจ อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ พระพุทธ-
เจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้
สมควรรับเครื่องบูชา ทรงพระประสงค์จะช่วยเหลือ
เรา พระองค์จึงได้เสด็จมายังอาศรมของเรา พระรัศมี

ได้แผ่กว้างใหญ่ตลอดไพรสณฑ์ ครั้งนั้น ป่าใหญ่
โพลงไปด้วยพุทธานุภาพ เราเห็นปาฏิหาริย์ของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ผู้คงที่ ได้เก็บเอาดอกไม้
มาเย็บเป็นกระทง แล้วเอาผลไม้ใส่จนเต็มหาบเข้าไป
เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ถวายพร้อมทั้งหาบ
เพื่อทรงอนุเคราะห์เรา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่เราว่า
ท่านจงถือเอาหาบเดินตามหลังเรามา เมื่อสงฆ์บริโภค
แล้ว บุญจักมีแก่ท่าน เราได้เอาหาบผลไม้ไปถวายแด่
ภิกษุสงฆ์ เรายังจิตให้เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์แล้ว ได้เข้า
ถึงสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นผู้ประกอบด้วยการฟ้อน การขับ
การประโคมอันเป็นทิพย์ เสวยยศในสวรรค์ชั้นดุสิต
นั้นโดยบุญกรรม เราเข้าถึงกำเนิดใด ๆ คือ เป็นเทวดา
หรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้น ๆ เราไม่มีความบกพร่อง
ในเรื่องโภคทรัพย์เลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
เพราะได้ถวายผลไม้ แด่พระพุทธเจ้า เราจึงได้เป็น
ใหญ่ตลอดทวีปทั้ง 4 พร้อมด้วยสมุทร พร้อมทั้งภูเขา
ถึงฝูงนกมีเท่าใดที่บินอยู่ในอากาศ นกเหล่านั้นก็ตกอยู่
ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ ยักษ์
ภูต รากษส กุมภัณฑ์ และครุฑ เท่าที่มีอยู่ในไพร-
สณฑ์ ต่างก็บำรุงบำเรอเรา ถึงพวกเต่า หมาไน ผึ้ง
และเหลือบยุง ก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผล
แห่งการถวายผลไม้ แม้เหล่าสกุณปักษีที่มีกำลัง ชื่อ
สุบรรณ ก็นับถือเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
ถึงพวกนาคที่มีอายุยืน มีฤทธิ์ มียศใหญ่ ก็ตกอยู่ใน

อำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ ราชสีห์
เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า หมาจิ้งจอก
ก็ตกอยู่ในอำนาจของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
ผู้ที่อยู่ ณ ต้นโอสถ และต้นหญ้า กับผู้ที่อยู่ใน
อากาศ ล้วนนับถือเราทั้งหมด นี้เป็นผลแห่งการถวาย
ผลไม้ ธรรมที่เห็นได้ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ซึ่งพระ-
ศาสดาทรงประกาศไว้ดีแล้ว เราถูกต้องแล้วอยู่นี้เป็น
ผลแห่งการถวายผลไม้ เราถูกต้องวิโมกข์ 8 เป็นผู้ไม่มี
อาสวะ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส และมีปัญญา
รักษาตนอยู่ นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ เราเป็น
ผู้หนึ่งในจำนวนโอรสของพระพุทธเจ้า ที่ดำรงอยู่ใน
ผล สิ้นโทสะ มียศใหญ่ นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
เราถึงความบริบูรณ์ ในอภิญญา อันกุศลมูลตักเตือน
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ เราเป็น
ผู้หนึ่งในจำนวนพระโอรสของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ได้
วิชชา 3 บรรลุฤทธิ์ มียศใหญ่ สมบูรณ์ด้วยทิพโสต
ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาล
นั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้
เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว
ฯ ล ฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระแม้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้กล่าวคาถานั่นแหละ โดย
นับเป็นการพยากรณ์พระอรหัตผล.
จบอรรถกถาสุปปิยเถรคาถา

3. โสปากเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระโสปากเถระ


[170] ได้ยินว่า พระโสปากเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
บุคคลพึงมีเมตตา ในบุตรคนเดียว ผู้เป็นที่รัก
ฉันใด ภิกษุพึงมีเมตตาในสัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน
ฉันนั้น.

อรรถกถาโสปากเถรคาถา


คาถาของท่านพระโสปากเถระเริ่มต้นว่า ยถาปิ เอกปุตฺตสฺมึ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ท่านเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ สั่งสมกุศล อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ เกิดเป็น
บุตรของกุฏุมพีคนใดคนหนึ่ง ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนาม
ว่า กกุสันธะ วันหนึ่งเห็นพระบรมศาสดา แล้วมีจิตเลื่อมใส แล้วน้อม
ถวายเมล็ดพืชเครือเถา แด่พระบรมศาสดา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย
ความอนุเคราะห์ จึงทรงรับไว้. และท่านมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในภิกษุสงฆ์
เริ่มตั้งสลากภัต ถวายขีรภัตแด่ภิกษุ 3 รูป โดยตั้งใจอุทิศเป็นสังฆทานจน
ตลอดชีวิต.