เมนู

4. สุคันธเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสุคันธเถระ


[161] ได้ยินว่า พระสุคันธเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ภิกษุบวชยังไม่ครบพรรษา ได้เห็นธรรมเป็น
ธรรมดีงาม บรรลุวิชชา 3 ได้ทำคำสอนของพระ
พุทธเจ้า สำเร็จแล้ว.

อรรถกถาสุคันธเถรคาถา


คาถาของท่านพระสุคันธเถระเริ่มต้นว่า อนุวสฺสิโก ปพฺพชิโต.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกัปที่ 92 นับแต่ภัทรกัปนี้ ท่านเกิดในกำเนิดมนุษย์
ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ติสสะ รู้เดียงสาแล้ว
เที่ยวไปล่าเนื้อในป่า. พระบรมศาสดา เสด็จไปแสดงรอยพระบาทให้ปรากฏ
เพื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา.
เขาเห็นเจดีย์ คือ พระบาทของพระศาสดาแล้ว เพราะมีอธิการอัน
กระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ จึงเกิดปีติโสมนัสว่า เท้าเหล่านี้
เป็นเท้าของบุคคลผู้เลิศในโลก พร้อมทั้งเทวโลก จึงถือเอาดอกหงอนไก่
มาทำการบูชา แล้วยังจิตให้เลื่อมใส. ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลก
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว หมั่นกระทำบุญ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์

ทั้งหลายไป ๆ มา ๆ (เกิด) เป็นกุฏุมพี ในกาล ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระนามว่า กัสสปะ บำเพ็ญมหาทาน แด่พระบรมศาสดา และภิกษุสงฆ์
ส่งจันทน์ขาวที่มีราคามาก ไปยังพระคันธกุฎี แล้วทำการอบด้วยจันทน์นั้น
ตั้งความปรารถนาว่า ในที่ ๆ ข้าพเจ้าเกิดแล้ว ๆ ขอให้สรีระของข้าพเจ้าจงมี
กลิ่นหอมอย่างนี้. เขากระทำบุญกรรม แม้อื่นเป็นอันมากไว้ในภพนั้น ๆ
ท่องเที่ยวไปในสุคติภพทั้งหลาย นั่นแล เกิดในเรือนของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์
ด้วยสมบัติในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้.
ก็นับจำเดิมแต่เวลาที่เขาผู้จะบังเกิดอยู่ในท้องมารดา สรีระของมารดา
แม้ทั้งสิ้น ก็หอมขจรไปทั่วทั้งเรือน. ส่วนในวันที่เขาเกิด กลิ่นหอมอย่างยิ่ง
ก็หอมฟุ้งไป แม้ในเรือนใกล้เคียงเป็นพิเศษทีเดียว. มารดา บิดาของเขา
กล่าวว่า บุตรของเราตั้งชื่อของตนด้วยตนเอง มาเกิดแล้ว จึงตั้งชื่อเขาว่า
สุคันธะ เหมือนกัน.
เขา เจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ เห็นพระมหาเสลเถระ แล้วฟังธรรม
ในสำนักของท่าน บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ภายใน 7
วันเท่านั้น. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เมื่อก่อน เรากับบิดาและปู่ เป็นคนทำการงาน
ในป่า เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าปศุสัตว์ กุศลกรรมของเรา
ไม่มี ใกล้กับที่อยู่ของเรา พระพุทธเจ้าผู้นำชั้นเลิศ
ของโลก ทรงพระนามว่า ติสสะ ผู้มีพระปัญญาจักษุ
ได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ 3 รอย เพื่ออนุเคราะห์
เราได้เห็นรอยพระบาท ของพระธรรมศาสดา ผู้ทรง
พระนามว่า ติสสะ ที่พระองค์ทรงเหยียบไว้ เป็นผู้

ร่าเริง มีจิตยินดี ยังจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท
เราเห็นต้นหงอนไก่ ที่ขึ้นมาจากแผ่นดิน มีดอกบาน
แล้ว จึงเด็ดมาพร้อมทั้งยอด บูชารอยพระบาทอัน
ประเสริฐสุด เพราะกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้น และ
เพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ไปสู่
ดาวดึงสพิภพ เราเข้าถึงกำเนิดใด ๆ คือ เป็นเทวดา
หรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้น ๆ เรามีผิวกายเหมือนสีดอก
หงอนไก่ มีรัศมี เป็นแดนซ่านออกจากตน ในกัป
ที่ 92 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น
ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการ
บูชารอยพระพุทธบาท เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลได้
ภาษิต คาถานี้ว่า
ภิกษุบวชยังไม่ทันครบพรรษา มองเห็นธรรม
เป็นธรรมดีงาม บรรลุวิชชา 3 ได้ทำคำสอนของพระ
พุทธเจ้า เสร็จแล้ว ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุวสฺสิโก ความว่า ไปทีหลัง คือเพิ่ง
เข้าจำพรรษา จึงชื่อว่า อนุวสฺโส ทำ อนุวสฺโสนั่นแหละ เป็นอนุวสฺสิโก.
บทว่า ปพฺพชิโต ความว่า เข้าถึงบรรพชา อธิบายว่า เป็นผู้บวช
แล้ว แต่เพียงเข้าจำพรรษา คือมีพรรษาเดียว. อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า
ตามไป คือไปที่หลังยังไม่ได้พรรษา จึงชื่อว่า อนุวัสสะ. อนุวัสสะ นั้น

มีแก่ภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อนุวสฺสิโก (ยังไม่ทันได้พรรษา).
ภิกษุใดที่บวชแล้วยังไม่ถึงการนับพรรษา เพราะมีพรรษายังไม่บริบูรณ์
ภิกษุนั้นท่านจึงเรียกอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อวสฺสิโก (ยังไม่
ทันครบพรรษา).
บทว่า ปสฺส ธมฺมสุธมฺมตํ ความว่า ท่านผู้บวชยังไม่ได้พรรษา
มองเห็นธรรมแห่งพระศาสดาของท่าน เป็นธรรมที่ดี คือ เป็นสวากขาตธรรม
ได้แก่ เป็นนิยยานิกธรรมโดยถ่ายเดียว. วิชชา 3 คือ บุพเพนิวาสญาณ
ทิพยจักขุญาณ อาสวักขยญาณ อันท่านถึงแล้วโดยลำดับ คือกระทำให้แจ้งแล้ว
ต่อแต่นั้นไป ศาสนาของพระพุทธเจ้า คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อันเรากระทำเสร็จแล้ว ได้แก่ พระอนุสาสนี คือ พระโอวาท ของพระองค์
เราตามศึกษาแล้ว เพราะเหตุนั้น พระเถระผู้เกิดปีติโสมนัส เพราะอาศัย
ความเป็นผู้มีกิจอันตนทำเสร็จแล้ว จึงกล่าวถึงตน โดยทำให้เป็นเหมือนคน
อื่น ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสุคันธเถรคาถา

5. นันทิยเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระนันทิยเถระ


[162] ได้ยินว่า พระนันทิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
จิตของภิกษุใด ได้บรรลุผลญาณ สว่างรุ่งเรือง
อยู่เป็นนิตย์ ท่านมาเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า จัดได้รับ
ทุกข์แน่นอน นะมาร.