เมนู

อรรถกถาปฐมนาควิมาน


ปฐมนาควิมาน มีคาถาว่า สุสุกฺกขนฺธํ อภิรุยฺห นาคํ เป็นต้น.
ปฐมนาควิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเทวจาริก ตามนัยที่กล่าวแล้ว
ในหนหลังนั่นแล ไปถึงภพดาวดึงส์ ได้เห็นเทพบุตรองค์หนึ่งในดาวดึงส์
นั้น ขี่ช้างทิพย์ใหญ่เผือกปลอดไปทางอากาศ ด้วยบริวารเป็นอันมาก
ด้วยทิพยานุภาพยิ่งใหญ่ สว่างไสวไปทุกทิศ เหมือนพระจันทร์และพระ-
อาทิตย์ ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปหาเทพบุตรนั้น ครั้งนั้น เทพบุตรนั้นลง
จากช้าง กราบท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่.
ลำดับนั้น พระเถระได้ถามถึงกรรมที่ทำไว้ โดยมุ่งประกาศสมบัติ
ของเทพบุตรนั้นว่า
ท่านเมื่อขึ้นช้างตัวเผือกผ่อง ไม่มีตำหนิ มีงา
มีพลัง เร็วมาก ก็ขับขี่ช้างประเสริฐที่ตกแต่งไว้งาม
เหาะเหินในอากาศมา ณ ที่นี้ ที่งาทั้งสองของช้าง
เนรมิตสระปทุมมีน้ำใส มีดอกปทุมบานสะพรั่ง ใน
ดอกปทุมทั้งหลายมีคณะเทพดนตรีบรรเลงอยู่ และ
มีเหล่าเทพอัปสรที่งามจับใจฟ้อนรำอยู่ ท่านบรรลุ
เทพฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่าน
ได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพ

รุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไป
ทุกทิศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสุกฺกขนฺธํ ได้แก่ มีตัวเผือกดี
ช้างเชือกนั้นเว้นอวัยวะเพียงเท่านี้ คือ เท้าทั้งสี่ อัณฑะ ปาก หูทั้งสอง
ขนหาง มีตัวเผือกหมดก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็กล่าวว่า สุสุกฺกขนฺธํ
เพราะที่ลำตัวเผือกผ่องอย่างยิ่ง. บทว่า นาคํ ได้แก่ พระยาช้างทิพย์.
บทว่า อกาจินํ ได้แก่ ไม่มีโทษ อธิบายว่า เว้นจากโทษของผิว
เป็นต้นว่า รอยด่าง รอยแผล และตกกระ บาลีเป็น อาชานียํ ก็มี
อธิบายว่า ประกอบด้วยลักษณะของอาชาไนย. บทว่า ทนฺตึ ได้แก่
บรรดาช้างมีงาทั้งหลาย ก็เป็นช้างมีงางามไพบูลย์. บทว่า พลึ
แปลว่า มีกำลัง คือกำลังมาก. บทว่า มหาชวํ แปลว่า มีความเร็วยิ่ง
คือไปได้เร็ว. ในบทว่า อภิรุยฺห นี้ พึงทราบว่าลบนิคหิตอีก ความว่า
กำลังขึ้นอยู่ มีคำอธิบายว่า น่าขับขี่. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
เทพบุตรถูกพระเถระถามอย่างนี้แล้ว เมื่อกล่าวกรรมที่ตนทำ ได้
พยากรณ์ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ข้าพเจ้าเลื่อมใส ยกดอกไม้กำแปดดอกขึ้น
บูชาที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า
กัสสปะด้วยมือตนเอง เพราะบุญนั้น วรรณะของ
ข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลอันนี้จึงสำเร็จ
แก่ข้าพเจ้า และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่
ข้าพเจ้า.

ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอบอก
แก่ท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้ทำบุญใดไว้
เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้
และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

คาถานั้นมีความว่า ข้าพเจ้าได้ดอกไม้แปดดอกที่หลุดจากขั้วหล่นที่
โคนกอ มีจิตเลื่อมใส จึงยกขึ้นบูชาโดยถือดอกไม้เหล่านั้นบูชาที่พระ-
สถูปทองโยชน์หนึ่ง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ ใน
ชาติก่อน.
เล่ากันว่า ในอดีตกาล เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ
ปรินิพพาน และมหาชนได้สร้างพระสถูปทองโยชน์หนึ่งแล้ว พระเจ้า
กาสีพระนามว่ากิงกิ พร้อมด้วยราชบริพาร ชาวนคร ชาวนิคม และชาว
ชนบท พากันบูชาด้วยดอกไม้ทุก ๆ วัน เมื่อคนเหล่านั้นกระทำอย่างนั้น
ดอกไม้จึงเป็นของมีค่ามากและหายาก ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งเที่ยวไป
ในถนนช่างร้อยดอกไม้ หาซื้อดอกไม้ดอกละหนึ่งกหาปณะก็ไม่ได้ จึง
ถือเงินแปดกหาปณะไปสวนดอกไม้ กล่าวกะนายมาลาการว่า โปรดมอบ
ดอกไม้แปดดอกแลกกับเงินแปดกหาปณะนี้นะจ๊ะ นายมาลาการกล่าวว่า
นายจ๋า ดอกไม้ที่จะเลือกคัดเอาแต่ที่ดี ๆ ให้ไป ไม่มีเลยจ้ะ. ฉันจะเข้าไป
ดูแล้วเลือกเอานะจ๊ะ. เชิญเข้าสวนหาเอาเองเถิดจ้ะ. อุบาสกนั้นเข้าไปหา
ได้ดอกไม้ร่วงแปดดอก จึงกล่าวกะนายมาลาการว่า โปรดรับแปดกหาปณะ
ไปเถิด พ่อคุณ นายมาลาการกล่าวว่า ท่านได้ดอกไม้ด้วยบุญของท่าน
ฉันรับกหาปณะไม่ได้ดอก อุบาสกกล่าวว่า ฉันจักไม่รับเอาดอกไม้
ทั้งหลายเปล่า ๆ ไปบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ดอกจ้ะ แล้ววางกหาปณะไว้

ตรงหน้าเขา รับเอาดอกไม้ไปลานพระเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสบูชาแล้ว กาล
ต่อมา อุบาสกนั้นตายไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในดาวดึงส์นั้นชั่ว
กำหนดอายุ จากเทวโลกเกิดในเทวโลกสูงขึ้นไปอีก เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่
ในเทวโลกทั้งหลายอย่างนี้ ในพุทธุปบาทกาลแม้นี้ เกิดในภพดาวดึงส์
ด้วยเศษวิบากของกรรมนั้นแล. คำว่า ตตฺถ อทฺทส อญฺญตรํ เทวปุตฺตํ
เป็นต้นที่กล่าวแล้วในหนหลัง หมายถึงเทพบุตรนั้น.
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกลับมามนุษยโลก กราบทูลเรื่องนี้นั้น
ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุป-
ปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่ประชุมกันโดยพิสดาร
เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนแล.
จบอรรถกถาปฐมนาควิมาน

11. ทุติยนาควิมาน


ว่าด้วยทุติยนาควิมาน


พระมหาโมคคัลลานเถระ

ถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า
[61] ท่านขี่ช้างใหญ่เผือกปลอดเป็นช้างอุดม
แวดล้อมไปด้วยหมู่อัปสร เที่ยวไปตามอุทยานต่าง ๆ
ทำให้สว่างไปทุกทิศ เหมือนดาวประกายพรึก เพราะ
บุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนี้ ฯ ล ฯ และ
วรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.