เมนู

จูฬวิยูหสูตร 12


ว่าด้วยผู้ยินดีในทิฏฐิของตน


พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า
[418] สมณพราหมณ์ทั้งหลายยึด-
มั่นอยู่ในทิฏฐิของตน ๆ ถือมั่นทิฏฐิแล้ว
ปฏิญาณว่าพวกเราเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าว
ต่างๆ กันว่า ผู้ใดรู้อย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม
คือทิฏฐิ ผู้นั้นคัดค้านธรรมคือทิฏฐินี้อยู่
ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม.
สมณพราหมณ์ทั้งหลายถือมั่นทิฏฐิ
แม้ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมโต้เถียงกัน และ
กล่าวว่า ผู้อื่นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด วาทะ
ของสมณพราหมณ์สองพวกนี้ วาทะไหน
เป็นวาทะจริงหนอ เพราะว่าสมณพราหมณ์
ทั้งหมดนี้ ต่างก็กล่าวกันว่าเป็นคนฉลาด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
หากว่าผู้ใดไม่ยินยอมตามธรรม คือ
ความเห็นของผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนพาล คนเขลา
เป็นคนมีปัญญาทราม ชนเหล่านี้ทั้งหมด

ก็เป็นคนพาล เป็นคนมีปัญญาต่ำทราม
เพราะว่าชนเหล่านี้ทั้งหมดถือมั่นอยู่ในทิฏฐิ.
ก็หากว่าชนเหล่านั้นเป็นคนผ่องใส
อยู่ในทิฏฐิของตน ๆ จัดว่าเป็นคนมีปัญญา
บริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด มีความคิดไซร้
บรรดาคนเจ้าทิฏฐิเหล่านั้น ก็จะไม่มีใคร ๆ
เป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าทิฏฐิของชน
แม้เหล่านั้น ล้วนเป็นทิฏฐิเสมอกัน เหมือน
ทิฏฐิของพวกชนนอกนี้.
อนึ่ง ชนทั้งสองพวกได้กล่าวกัน
และกันว่าเป็นผู้เขลา เพราะความเห็นใด
เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้ เพราะเหตุที่
ชนเหล่านั้น ได้กระทำความเห็นของตน ๆ
ว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง (สิ่งอื่นเปล่า) ฉะนั้นแล
ชนเหล่านั้น จึงตั้งคนอื่นว่าเป็นผู้เขลา.

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า
สมณพราหมณ์แต่ละพวก กล่าวทิฏฐิ
ใดว่า เป็นความจริงแท้ แม้สมณพราหมณ์
พวกอื่นก็กล่าวทิฏฐินั้นว่า เป็นความเท็จ
ไม่จริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายมาถือมั่น

(ความจริงต่าง ๆ กัน) แม้ด้วยอาการอย่างนี้
แล้วก็วิวาทกัน เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลง
ไปได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
สัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น สัจจะที่สอง
ไม่มี ผู้ที่ทราบชัดมาทราบชัดอยู่ จะต้อง
วิวาทกันเพราะสัจจะอะไรเล่า สมณพราหมณ์
เหล่านั้น ย่อมกล่าวสัจจะทั้งหลายให้ต่างกัน
ออกไปด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลาย จึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็น
หนึ่งลงไปได้.

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า
เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิทั้งหลาย กล่าวยกตนว่าเป็น
คนฉลาด จึงกล่าวสัจจะให้ต่างกันไป สัจจะ
มากหลายต่าง ๆ กัน จะเป็นอันใคร ๆ ได้
สดับมา หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ระลึกตามความคาดคะเนของตน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

สัจจะมากหลายต่าง ๆ กัน เว้นจาก
สัญญาว่าเที่ยงเสีย ไม่มีในโลกเลย ก็สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายมากำหนดความคาดคะเน
ทิฏฐิทั้งหลาย (ของตน) แล้ว จึงกล่าวทิฏฐิ
ธรรมอันเป็นคู่กันไป จริง ๆ เท็จ.
บุคคลเจ้าทิฏฐิ อาศัยทิฏฐิธรรม
เหล่านี้ คือ รูปที่ได้เห็นบ้าง เสียงที่ได้ฟัง
บ้าง อารมณ์ที่ได้ทราบบ้าง ศีลและพรตบ้าง
จึงเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ และตั้งอยู่ในการ
วินิจฉัยทิฏฐิแล้วร่าเริงอยู่ กล่าวว่า ผู้อื่นเป็น
คนเขลาไม่ฉลาด.
บุคคลเจ้าทิฏฐิย่อมติเตียนบุคคลอื่น
ว่าเป็นผู้เขลา ด้วยทิฏฐิใด กล่าวยกตนว่าเป็น
ผู้ฉลาดด้วยลำพังตน ย่อมติเตียนผู้อื่นกล่าว
ทิฏฐินั้นเอง บุคคลยกตนว่าเป็นคนฉลาด
ด้วยทิฏฐินั้น.
ชื่อว่าเจ้าทิฏฐินั้นเต็มไปด้วยความ
เห็นว่าเป็นสาระยิ่ง และมัวเมาเพราะมานะ
มีมานะบริบูรณ์ อภิเษกตนเองด้วยใจว่า เรา
เป็นบัณฑิต เพราะว่าทิฏฐินั้น ของเขา
บริบูรณ์แล้วอย่างนั้น.


ก็ถ้าว่าบุคคลนั้นถูกเขาว่าอยู่ จะเป็น
คนเลวทรามด้วยถ้อยคำของบุคคลอื่นไซร้
ตนก็จะเป็นผู้มีปัญญาต่ำทรามไปด้วยกัน อนึ่ง
หากว่าบุคคลจะเป็นผู้ถึงเวท เป็นนักปราชญ์
ด้วยลำพังตนเองไซร้สมณพราหมณ์ทั้งหลาย.
ก็ไม่มีใครเป็นผู้เขลา.
ชนเหล่าใดกล่าวยกย่องธรรม คือ
ทิฏฐิอื่นจากนี้ไป ชนเหล่านั้นผิดพลาด และ
ไม่บริบูรณ์ด้วยความหมดจด เดียรถีย์ทั้งหลาย
ย่อมกล่าวแม้อย่างนี้โดยมากเพราะว่าเดียรถีย์
เหล่านั้นยินดีนัก ด้วยความยินดีในทิฏฐิของ
ตน.
เดียรถีย์ทั้งหลาย กล่าวความบริสุทธิ์
ในธรรม คือทิฏฐินี้เท่านั้น หากกล่าวความ
บริสุทธิ์ในธรรมเหล่าอื่นไม่ เดียรถีย์ทั้งหลาย
โดยมากเชื่อมั่นแม้ด้วยอาการอย่างนี้เดียรถีย์
ทั้งหลาย รับรองอย่างหนักแน่นในลัทธิของ
ตนนั้น.
อนึ่ง เดียรถีย์รับรองอย่างหนักแน่น
ในลัทธิของตนจะพึงตั้งใครอื่นว่าเป็นผู้เขลา
ในลัทธินี้เล่า เดียรถีย์นั้น เมื่อกล่าวผู้อื่นว่า

เป็นผู้เขลา เป็นผู้มีธรรมไม่บริสุทธิ์ ก็พึง
นำความทะเลาะวิวาทมาให้แก่ตนถ่ายเดียว.
เดียรถีย์นั้น ตั้งอยู่ในการวินิจฉัย
ทิฏฐิแล้ว นิรมิตศาสดาเป็นต้นขึ้นด้วยตนเอง
ก็ต้องวิวาทกันในโลกยิ่งขึ้นไป บุคคลละการ
วินิจฉัยทิฏฐิทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่กระทำ
ความทะเลาะวิวาทในโลก ฉะนี้แล.

จบจูฬวิยูหสูตรที่ 12

อรรถกถาจูฬวิยูหสูตรที่ 12


จูฬวิยูหสูตร

มีคำเริ่มต้นว่า สกํ สกํ ทิฏฺฐิปริพฺพสานา สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิของตน ๆ ดังนี้เป็นต้น.
พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ?
ในมหาสมัยนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้ก็เพื่อ
ประกาศความนั้นแก่เทวดาบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นแล้วว่า ผู้ถือทิฏฐิเหล่านี้
ทั้งหมดกล่าวว่า เราเป็นผู้ดี ผู้ถือทิฏฐิว่าเราเป็นผู้ดีเหล่านี้ตั้งอยู่ในทิฏฐิของตน
เท่านั้นหรือว่ารับทิฏฐิแม้อื่นด้วยทรงให้พระพุทธนิมิตถามพระองค์โดยนัยก่อน
นั่นแล.
ในสูตรนั้นสองคาถาข้างต้นเป็นคาถาถามนั่นเอง. ในคาถาเหล่านั้น
คาถาว่า สกํ สกํ ทิฏฺฐิปริพฺพสานา คือยึดมั่นอยู่ในทิฏฐิของตน ๆ. บทว่า