เมนู

มาฆสูตรที่ 5


ว่าด้วยผู้ที่บูชาประสบบุญมาก


[361] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ผู้รู้ความประสงค์ของ
ผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรมถวายแก่ปฏิคาหก 1 องค์บ้าง 2 องค์บ้าง
3 องค์บ้าง 4 องค์บ้าง 5 องค์บ้าง 6 องค์บ้าง 7 องค์บ้าง 8 องค์บ้าง
9 องค์บ้าง 10 องค์บ้าง 20 องค์บ้าง 30 องค์บ้าง 40 องค์บ้าง 50 องค์
บ้าง 100 องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ถวายทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะประสบบุญมากแลหรือ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมาณพ เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น
บูชาอยู่อย่างนั้น ย่อมประสบบุญมากแท้ ดูก่อนมาณพ ผู้ใดแล เป็นทายก
เป็นทานบดี รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์
โดยธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมนำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยธรรม ถวาย
แก่ปฏิคาหก 1 องค์บ้าง ฯลฯ 100 องค์บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ผู้นั้นย่อม
ประสบบุญมาก.

ครั้งนั้นแล มาฆมาณพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
[362] ข้าพระองค์ขอถามพระโคดม
ทรงรู้ถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสายะ ไม่ยึดถือ
อะไรเที่ยวไป ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การ
ขอ เป็นทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ
ให้ข้าวน้ำ บูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ การ
บูชาของผู้บูชาอยู่อย่างนี้ จะพึงบริสุทธิ์ได้
อย่างไร.
พ. (ดูก่อนมาฆมาณพ) ผู้ใดเป็น
คฤหัสถ์ ควรแก่การขอ เป็นทานบดี มีความ
ต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ชน
เหล่าอื่นในโลกนี้ ผู้เช่นนั้น พึงให้ทักขิไณย-
บุคคลขึ้นดีได้.
ม. ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ ควรแก่การขอ
เป็นทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ
ให้ข้าวน้ำบูชาแก่ตนเหล่าอื่นในโลกนี้ ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงบอก
ทักขิไณยบุคคลแก่ข้าพระองค์เถิด.
พ. ชนเหล่าใดแลไม่เกี่ยวข้อง หา
เครื่องกังวลมิได้ สำเร็จกิจแล้ว มีจิตคุ้ม-

ครองแล้ว เที่ยวไปในโลก พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ
พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้น
ตามกาล.
ชนเหล่าใดตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือ
สังโยชน์ได้ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็นผู้พ้น
เด็ดขาด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์
ผู้มุ่งบุญ พึงหลั่งไทยธรรม บูชาในชน
เหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดพ้นเด็ดขาดจากสังโยชน์
ทั้งหมด ฝึกตนแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง พราหมณ์พึงหลั่ง
ไทยธรรม บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดละราคะ โทสะ และ
โมหะได้แล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์ พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม
บูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดไม่มีมายา ไม่มีความ
ถือตัว มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมในชนเหล่านั้น
ตามกาล.

ชนเหล่าใดปราศจากความโลก ไม่
ยึดถืออะไร ๆ ว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ พราหมณ์
พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดแล ไม่น้อมไปในตัณหา
ทั้งหลาย ข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่ยึดถืออะไร ๆ
ว่าเป็นของเรา เที่ยวไปอยู่ พราหมณ์พึงหลั่ง
ไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดไม่มีตัณหาเพื่อเกิดในภพ
ใหม่ ในโลกไหน ๆ คือ ในโลกนี้หรือใน
โลกอื่น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาใน
ชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่ยึดถืออะไรเที่ยวไป มีตนสำรวมดีแล้ว
เหมือนกระสวยที่ตรงไป ฉะนั้น พราหมณ์
พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดปราศจากความกำหนัด
มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว พ้นจาการจับแห่ง
กิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์
พ้นแล้วจากราหูจับ สว่างไสวอยู่ฉะนั้น
พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่า-
นั้นตามกาล.

ชนเหล่าใดมีกิเลสสงบแล้ว ปราศ-
จากความกำหนัด เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มีคติ
เพราะละขันธ์อันเป็นไปในโลกนี้ได้เด็ดขาด
พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชน
เหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดละชาติและมรณะไม่มี
ส่วนเหลือ ล่วงพ้นความสงสัยได้ทั้งปวง
พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่า
นั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีเครื่อง
กังวล หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไป
อยู่ในโลก พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรมบูชา
ในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดแล ย่อมรู้ในขันธ์และ
อายตนะเป็นต้นตามความเป็นจริงว่า ชาตินี้
มีในที่สุด ภพใหม่ไม่มี ดังนี้ พราหมณ์พึง
หลั่งไทยธรรมบูชาในชนเหล่านั้นตามกาล.
ชนเหล่าใดเป็นผู้ถึงเวท ยินดีใน
ฌาน มีสติ บรรลุธรรมเครื่องตรัสรู้ดี
เป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญพึงหลั่งไทยธรรมบูชาใน
ชนเหล่านั้นตามกาล.

ม. คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่า
ประโยชน์แน่นอน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์ตรัสบอกทักขิไณยบุคคลแก่ข้า-
พระองค์แล้ว ก็พระองค์ย่อมทรงทราบ
ไญยธรรมนี้ ในโลกนี้โดยถ่องแท้ จริงอย่าง
นั้น ธรรมนี้พระองค์ทรงทราบแจ่มแจ้งแล้ว
ผู้ใดเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ เป็น
ทานบดี มีความต้องการบุญ มุ่งบุญ ให้
ข้าวน้ำบูชาแก่ชนเหล่าอื่นในโลกนี้ ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ตรัสบอก
ความถึงพร้อมแห่งยัญแก่ข้าพระองค์.
พ. ดูก่อนมาฆะ เมื่อท่านจะบูชาก็
จงบูชาเถิด และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาล
ทั้งปวง เพราะยัญย่อมเป็นอารมณ์ของบุคคล
ผู้บูชายัญ บุคคลตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อม
ละโทสะเสียได้.
อนึ่ง บุคคลผู้นั้น ปราศจากความ
กำหนัดแล้ว พึงกำจัดโทสะ เจริญเมตตาจิต
อันประมาณมิได้ ไม่ประมาทแล้วเนือง ๆ
ทั้งกลางคืนกลางวัน ย่อมแผ่อัปปมัญญา
ภาวนาไปทั่วทิศ.

ม. ใครย่อมบริสุทธิ์ ใครย่อมหลุดพ้น
และใครยังติดอยู่ บุคคลจะไปพรหมโลกได้
ด้วยอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ข้า-
พระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ผู้ไม่รู้ ก็พระผู้มี
พระภาคเจ้าผู้เป็นพรหม ข้าพระองค์ขออ้าง
เป็นพยานในวันนี้ เพราะพระองค์เป็นผู้
เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ(ข้าแต่
พระองค์ผู้มีความรุ่งเรื่อง) บุคคลจะเข้าถึง
พรหมโลกได้อย่างไร.
พ. (ดูก่อนมาฆะ) ผู้ใดย่อมบูชายัญ
ครบทั้ง 3 อย่าง ผู้เช่นนั้นพึงให้ทักขิไณย-
บุคคลทั้งหลายยินดีได้ เราย่อมกล่าวผู้นั้นว่า
เป็นผู้ควรแก่การขอ ครั้นบูชาโดยชอบอย่าง
นั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงพรหมโลก.

[363] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก ฯลฯ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบมาฆสูตรที่ 5

อรรถกถามาฆสูตรที่ 5


มาฆสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อวมฺเม สุตํ ดังนี้.
ถามว่า พระสูตรนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร ?
ตอบว่า เหตุที่เกิดนี้ท่านกล่าวไว้แล้วในนิทานแห่งมาฆสูตรนั้น.
มีเรื่องย่อว่า มาฆมาณพนี้เป็นทายก เป็นทานบดี. เขาได้มีความวิตก
ว่าทานที่ให้แก่คนกำพร้าและคนเดินทางที่มาถึงจะเป็นทานมีผลมากหรือไม่หนอ
เราจักทูลถามความนี้กะพระสมณโคดม ข่าวว่าพระสมณโคดมทรงทราบ อดีต
อนาคต และปัจจุบัน เขาจึงเข้าไปถามพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาค-
เจ้าทรงพยากรณ์สมควรแก่คำถามของเขา พระสูตรนี้รวบรวมคำของสามท่าน
คือ ของพระสังคีติกาจารย์ ของพราหมณ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเรียกว่า
มาฆสูตร.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ราชคเห คือในนครมีชื่ออย่างนั้น. นครนั้น
เรียกว่าราชคฤห์เพราะถูกพระเจ้ามันธาตุ และหาโควินทะยึดครองไว้ แม้
อาจารย์พวกอื่นก็พรรณนาไว้ในทำนองนี้. พรรณนาไว้อย่างไร. นี้เป็นชื่อของ
นครนั้น. ก็นครนี้นั้นเป็นนครครั้งพุทธกาล และครั้งจักรพรรดิกาล. ในกาล
ที่เหลือเป็นนครว่างเปล่าถูกยักษ์ครอง เป็นป่าอันเป็นที่อยู่ของยักษ์เหล่านั้น.
พระอานนท์แสดงถึงโคจรคามอย่างนี้แล้วจึงกล่าวถึงที่ประทับว่า คิชฺฌกูเกฏ
ปพฺพเต
ณ ภูเขาคิชฌกูฎ. พึงทราบว่าแร้งอาศัยอยู่บนยอดภูเขานั้น หรือ
ยอดภูเขานั้นคล้ายแร้ง ฉะนั้น จึงเรียกภูเขานั้นว่า คิชฌกูฎ ดังนี้,