เมนู

อรรถกถาโลกสูตร


ในโลกสูตรที่ 13 พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

ความหมายของโลก


บทว่า โลโก ความว่า ชื่อว่าโลก เพราะหมายความว่าย่อยยับไป
หักพังไป. โดยเนื้อความได้แก่อริยสัจ 2 ข้อต้น แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ได้แก่
ทุกขอริยสัจ. โลกนี้นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง ทั้งโดยจำแนกออกไป
และโดยสรุปว่า สัตวโลก สังขารโลก และโอกาสโลก.
อีกอย่างหนึ่ง โลกมีมากอย่าง ด้วยสามารถแห่งขันธโลกเป็นต้น.
ถามว่า โลกคืออะไร ? คือ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก วิปัตติภวโลก
วิปัตติสัมภวโลก สัมปัตติภวโลก สัมปัตติสัมภวโลก โลก 1 คือ สัตว์ทั้งมวล
ดำรงอยู่ด้วยอาหาร โลก 2 คือ นาม 1 รูป 1 โลก 3 คือ เวทนา 3 โลก
4 คือ อาหาร 4 โลก 5 คือ อุปาทานขันธ์ 5 โลก 6 คือ อายตนะที่เป็นไป
ภายใน 6 โลก 7 คือ วิญญาณฐิติ 7 โลก 8 คือ โลกธรรม 8 โลก 9
คือ สัตตาวาส 9 โลก 10 คือ อายตนะ 10 โลก 12 คือ อายนะ 12
โลก 18 คือ ธาตุ 18 โลกแม้จำแนกออกไปมากอย่าง ดังที่พรรณนามานี้
ย่อมถึงการสงเคราะห์ คือการรวมลงในอุปาทานขันธ์ 5 เท่านั้น. และอุปา-
ทานขันธ์ก็เป็นทุกขอริยสัจ คือแม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ ฯลฯ โดยย่นย่อ
แม้อุปาทานขันธ์ 5 ก็เป็นทุกข์ ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า โดย

เนื้อความได้แก่อริยสัจ 2 อย่างข้างต้น แต่ในพระสูตรนี้ พึงทราบว่า ได้แก่
ทุกขอริยสัจ.
ถามว่า ก็ความหมายว่าย่อยยับไป หักพังไป ย่อมมีอยู่ในขันธ์ 5 โดย
ไม่แปลกกัน ไม่ใช่หรือ ? ตอบว่า มีอยู่จริง แต่สิ่งใดที่ยึดถือไว้ว่า จะไม่
ย่อยยับไป สิ่งนั้นหาเป็นอย่างนั้นไม่ ย่อมย่อยยับหักพังไป โดยส่วนเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้น สภาพนั้นจึงชื่อว่าโลก. โลกศัพท์ พึงทราบว่า กำหนดลงไป
แน่นอนแล้วในอุปาทานขันธ์ทั้งหลายเท่านั้น . เพราะเหตุนั้น คำว่า โลก
จึงเป็นทุกขสัจเท่านั้น. แม้ผิว่า เนื้อความแห่งตถาคตศัพท์ ข้าพเจ้าได้จำแนก
ไว้แล้ว โดยนัยต่าง ๆ อย่างพิสดาร ในตถาคตสูตร ในเบื้องหลังไซร้ ถึง
อย่างนั้น ในที่นี้ก็จะมีการขยายความให้ชัด โดยมุขคือการพรรณนาเนื้อความ
ของพระบาลี ดังต่อไปนี้.
บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ความว่า ก่อนอื่นโดยไม่แปลกกัน ตามการ
จำเเนกที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่ตอนก่อนว่า อภิญฺเญยฺยโต (โดยธรรมที่ควรรู้ยิ่ง)
ปริญฺเญยฺยโต (โดยธรรมที่ควรกำหนดรู้) หรือโดยการจำแนกเป็นกุศลและ
อกุศลเป็นต้น ที่แยกออกเป็นอาสยกิเลส อนุสยกิเลส จริยาและอธิมุตติเป็นต้น
ก็หรือว่า โดยแปลกกันที่แยกเป็นประมาณแห่งวรรณะ (สี) และสัณฐาน
เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้คือทรงทราบ ได้แก่ทรงกระทำประโยชน์
ที่คนทั้งหลายพึงรู้โดยประการใด ๆ ให้ประจักษ์แก่พระองค์ โดยประการนั้นๆ
โดยชอบคือไม่ผิดพลาด ด้วยสยัมภูญาณที่ยิ่งยวด มีอาทิว่า ผู้นี้มีอาสยะยั่งยืน
(อัธยาศัยเป็นสัสตะ) ผู้นี้มีอาสยะขาดสูญ (อัธยาศัยเป็นอุจเฉทะ) และมีอาทิว่า
ปฐวีธาตุ มีลักษณะแข้นแข็ง อาโปธาตุ มีลักษณะไหลไป เพราะฉะนั้น จึง
ทรงพระนามว่า อภิสัมพุทธะ.

บทว่า โลกสฺมา ความว่า จากโลกตามที่กล่าวแล้ว บทว่า วิสํยุตฺโต
ความว่า ไม่เกี่ยวข้องแล้ว อธิบายว่า พ้นไปจากโลกนั้น เพราะตัดขาด
สังโยชน์ทั้งหมด ที่เนื่องด้วยโลกนั้นออกไปได้โดยชอบทีเดียว.
บทว่า โลกสมุทโย ได้แก่ตัณหา ตามสุตตันตนัย แต่ตามอภิธรรมนัย
ได้แก่กิเลส 1,500 พร้อมด้วยอภิสังขารทั้งหลาย. บทว่า ปหีโน ได้แก่
ทรงละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้ ด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน ด้วยอรหัตมรรค-
ญาณที่โพธิมณฑล. บทว่า โลกนิโรโธ ได้แก่ พระนิพพาน บทว่า สจฺฉิกโต
ได้แก่ ทำให้ประจักษ์แก่พระองค์เอง. บทว่า โลกนิโรธคามินีปฏิปทา
ได้แก่อัษฎางคิกมรรค อันเป็นอริยะสงเคราะห์ลงในขันธ์ 3 มีศีลขันธ์เป็นต้น.
เพราะว่า ทางนั้นไปถึงคือบรรลุถึงพระนิพพานอันเป็นที่ดับโลก หรืออัน
พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินไปเพื่อพระนิพพานนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า
โลกนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก).
ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเนื้อความ
นี้ว่า ชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้ยิ่ง คือถึงตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่แท้จริง
อธิบายว่า อริยสัจ 4 ชื่อว่า ตถา (สิ่งที่แท้จริง). ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่แท้จริง ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น
เหล่านี้มี 4 อย่าง 4 อย่างคืออะไร ? คือ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า นี้ทุกข์
นั่นเป็นสิ่งที่แท้จริง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ผิดพลาด นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอย่างอื่น.
พึงทราบความพิสดารต่อไป.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปเพื่อสิ่งที่แท้จริง ชื่อว่า
ตถาคต เพราะทรงถึงสิ่งที่แท้จริง. อนึ่ง บทว่า คโต ได้แก่ทรงบรรลุแล้ว
คือทรงผ่านมาแล้ว หมายความว่า ทรงถึงแล้ว อธิบายว่า ทรงปฏิบัติแล้ว.
มีคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึง คือบรรลุแล้ว

ซึ่งสากลโลก ด้วยติรณปริญญา ที่เป็นความจริง ไม่ผิดพลาด ฉะนั้น พระองค์
จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะพระตถาคตตรัสรู้โลกแล้ว. ทรงพระนามว่า
ตถาคต เพราะเสด็จถึง คือ เสด็จผ่านโลกสมุทัย (เหตุเกิดโลก) มาแล้วด้วย
ปหานปริญญา ที่เป็นความจริง ไม่ผิดพลาด ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะ
เสด็จถึงคือทรงลุถึงโลกนิโรธ (เหตุดับโลก) ด้วยการทำให้แจ้ง ที่เป็นความจริง
และทรงพระนามว่าตถาคต เพราะทรงถึงคือทรงปฏิบัติ ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับโลก ที่แท้จริงไม่ผิดพลาด. ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความแห่งพระบาลีนี้
ด้วยอำนาจการแสดงถึงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระตถาคต ด้วย
ประการอย่างนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความที่พระองค์เป็นพระตถา-
คต ด้วยอำนาจแห่งการตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยประการดังนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะ
ทรงแสดงถึงความที่พระองค์เป็นพระตถาคตนั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งการตรัสรู้
ธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้วเป็นต้น ในสัจจะ 4 เหล่านั้น จึงได้ตรัสคำมีอาทิ
ไว้ว่า ยํ ภิกฺขเว. แต่ในอรรถกถาอังคุตตรนิกายท่านกล่าวคำมีอาทิไว้ว่า ครั้น
ตรัสความที่พระองค์เป็นพุทธเพราะสัจจะทั้ง 4 แล้วดังนี้ คำนั้น ท่านกล่าวไว้
เพื่อแสดงว่า ศัพท์ว่า ตถาคต และศัพท์ว่า พุทธ โดยเนื้อความแล้วไม่มีเหตุ
แตกต่างกันเลย อนึ่ง ความจริงพระบาลีก็เป็นไปแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐํ ได้แก่ อายตนะคือรูป. บทว่า
สุตํ ได้แก่ อายตนะคือเสียง. บทว่า มุตํ ได้แก่อายตนะคือกลิ่น อายตนะ
คือรส และอายตนะคือโผฏฐัพพะ เพราะจะต้องประจวบเข้า จึงจะรับ
เอาได้. บทว่า วิญฺญฺาตํ ได้แก่ ธรรมารมณ์ มีสุขทุกข์เป็นต้น. บทว่า
ปตฺตํ ได้แก่ ที่มาประจวบเข้าโดยได้แสวงหาหรือไม่ได้แสวงหาก็ตาม. บทว่า

ปริเยสิตํ ได้แก่แสวงหาอารมณ์ที่มาประจวบเข้าบ้าง ที่ไม่มาประจวบเข้าบ้าง.
บทว่า อนุวิจรตํ มนสา ได้แก่ อารมณ์ที่ทรงใคร่ครวญด้วยใจ. ควรจะ
เชื่อมความว่า ถามว่า ใคร่ครวญด้วยใจของใคร ? ตอบว่า ด้วยใจของสัตวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สเทวกสฺส โลกสฺส ต่อไป. สัตวโลก
พร้อมด้วยเทวโลกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สเทวโลกะ. แห่งสัตวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกนั้น. แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนั้นเหมือนกัน. ก็ด้วยคำว่า
สเทวกะ ในพระสูตรนี้ พึงทราบถึงการทรงถือเอาเทวดาชั้นกามาพจร 5 ชั้น.
ด้วยคำว่า สมารกะ พึงทราบถึงการทรงถือเอาเทวดาชั้นกามาพจรชั้นที่ 6.
ด้วยคำว่า สพรหมกะ พึงทราบถึงการทรงหมายเอาชั้นพรหมมีพรหมกายิกะ
เป็นต้น. ด้วยคำว่า สสฺสมณพฺราหฺมณี พึงทราบถึงการทรงถือเอาสมณ-
พราหมณ์ ผู้เป็นข้าศึกต่อพระศาสนา และการทรงถือเอาสมณพราหมณ์ผู้ระงับ
บาป และลอยบาปได้แล้ว. ด้วยคำว่า ปชา พึงทราบถึงการทรงถือเอาสัตวโลก.
ด้วยคำว่า สเทวมนุสฺส พึงทราบถึงการทรงถือเอาสมมติเทพ และมนุษย์
ที่เหลือ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตวโลกพร้อมด้วยเทวดามารและพรหม ในพระสูตรนี้
พึงทราบว่าทรงถือเอาแล้วด้วยบททั้ง 3 สัตวโลกเท่านั้น พึงทราบว่าทรงถือเอา
แล้วด้วยบททั้งสอง ด้วยอำนาจประชาสัตว์. อีกนัยหนึ่งเทวโลกชั้นอรูปาพจร
พระองค์ถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่า สเทวกะ. เทวโลกชั้นฉกามาวจร ด้วยคำว่า
สมารกะ. พรหมโลกชั้นที่มีรูป ด้วยคำว่า สพรหมกะ. สัตวโลกที่เหลือ
พร้อมด้วยสมมติเทพทั้งหลาย ทรงถือเอาแล้วด้วยคำว่า สัสสมณพราหมณ-
ศัพท์เป็นต้น.
ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงมีสัตวโลกทั้งหมด
เป็นอารมณ์ ได้ทรงประกาศความเป็นผู้ได้ตรัสรู้แล้ว โดยการกำหนดอย่าง

อุกฤษฏ์ ด้วยคำว่าสเทวะในพระสูตรนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชนเหล่าใดจะพึงมี
ความเข้าใจผิดว่า ขึ้นชื่อว่ามาร ชื่อวสวัตดีมีอานุภาพมาก เป็นใหญ่ในสวรรค์
ชั้นฉกามาพจรมีอยู่. แต่พระพรหมมีอานุภาพมากแม้กว่ามารนั้นใช้นิ้วทั้ง 10
ส่องแสงสว่างไปในหมื่นจักรวาล เสวยสุขอันเกิดจากฌานสมาบัติชั้นสูงมีอยู่.
และสมณพราหมณ์จำนวนมากผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตใจของผู้อื่นมีอานุภาพ
มาก ยังมีอยู่ ทั้งหมู่สัตว์นี้ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด หาประมาณมิได้ก็ยังมี อารมณ์
ของสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงรู้แล้ว โดย
ไม่มีเหลือเทียวหรือ ? พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงขจัดความเข้าใจผิด
ของชนเหล่านั้น จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า สเทวกสฺส โลกสฺส. ส่วนโบรา-
ณาจารย์ ได้กล่าวไว้ว่า บทว่า สเทวกสฺส คลุมถึงสัตวโลกไม่มีเหลือ
พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย บทว่า สมารกสฺส คลุมถึงสัตวโลกไม่มีเหลือ
พร้อมด้วยมาร บทว่า สพฺรหฺมกสฺส คลุมถึงสัตวโลกไม่มีเหลือพร้อมด้วย
พรหมทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงใส่สัตว์แม้ทั้งหมดผู้เข้าถึง
ภพทั้ง 3 ลงใน 3 บทอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงใช้ 2 บทคลุมอีก จึงได้ตรัสไว้ว่า
สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย (อันหมู่สัตว์ พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์). พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอบ-
คลุมสัตว์ทั้งหมด ที่กำหนดด้วยขันธ์ทั้ง 3 ไว้ ด้วยทั้ง 5 บทอย่างนี้.
ด้วยบทว่า ยสฺมา ตํ ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธํ (เพราะเหตุที่
อารมณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสรู้แล้ว) พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงทรงแสดงคำนี้ไว้ คือ รูปารมณ์อันใด มีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น มาสู่คลอง
ในจักขุทวารของสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก ในโลกธาตุที่หาประมาณมิได้
รูปารมณ์นั้นทั้งหมด พระตถาคตเจ้าได้ทรงรู้แล้วอย่างนี้ว่า สัตว์นี้เห็น
รูปารมณ์นี้ในขณะนี้แล้ว ดีใจหรือเสียใจ หรือเกิดมีใจเป็นกลาง. สัททารมณ์

มีเสียงกลอง เสียงตะโพนเป็นต้น อันใด ก็เช่นนั้นมาสู่คลองในโสตทวาร
ของสัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ในโลกธาตุที่หาประมาณมิได้ คันธารมณ์มีกลิ่น
เกิดแต่รากเหง้า และเปลือกเป็นต้น (อันใด) มาสู่คลองในมานทวาร...
รสารมณ์มีรสเกิดแต่รากเหง้า และรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้น (อันใด) มาสู่คลอง
ในชิวหาทวาร...โผฏฐัพพารมณ์แยกออกเป็นปฐวีธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ
มีแข็งและอ่อนเป็นต้น (อันใด) มาสู่คลองในกายทวาร (ของสัตวโลกพร้อมทั้ง
เทวโลกในโลกธาตุที่หาประมาณมิได้) พระตถาคตเจ้าได้ทรงทราบโผฏฐัพ-
พารมณ์อันนั้นทั้งหมดอย่างนี้ว่า สัตว์นี้ ถูกต้องโผฏฐัพพะชื่อนี้ในขณะนี้แล้ว
เป็นผู้ดีใจหรือเสียใจ หรือเกิดมีใจเป็นกลาง. ธรรมารมณ์ที่แยกออกเป็นสุข
เป็นต้น (อันใด) ก็เช่นนั้นมาสู่คลอง ในมโนทวารของสัตวโลก พร้อมทั้ง
เทวโลกนี้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ธรรมารมณ์นั้นทั้งหมด พระตถา-
คตเจ้า ได้ตรัสรู้แล้วอย่างนี้ว่า สัตว์นี้รู้ธรรมารมณ์ชื่อนี้ ในขณะนี้แล้ว
เป็นผู้ดีใจหรือเสียใจ หรือเกิดมีใจเป็นกลาง. เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่สัตวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกนี้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้ทราบแล้ว ได้รู้แล้ว พระตถาคตเจ้า
จะไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน ไม่ทรงทราบหรือไม่ทรงรู้ ย่อมไม่มี. แต่รูป
เป็นต้น ที่มหาชนนี้แสวงหาแล้ว แต่ไม่ได้ประสบมีอยู่บ้าง ที่ไม่ได้แสวงหา
ก็ไม่ประสบมีอยู่บ้าง ที่แสวงหาแล้ว ได้ประสบมีอยู่บ้าง ที่ไม่ได้แสวงหา
แต่ได้ประสบมีอยู่บ้าง. รูปเป็นต้น แม้ทั้งหมดที่ชื่อว่าพระตถาคตเจ้าไม่ทรง
ประสบแล้ว คือไม่ทรงทำให้แจ้งด้วยญาณแล้ว ย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ
ขึ้นชื่อว่า รูปารมณ์อันใด ที่มาสู่คลองในจักษุทวาร ของสัตว์ทั้งหลาย หา-
ประมาณมิได้ ในโลกธาตุทั้งหลายหาประมาณมิได้ มีอยู่ รูปารมณ์นั้นพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรู้ทรงเห็นโดยอาการสิ้นเชิง. ก็รูปารมณ์นั้นอันพระผู้มี-
พระภาคเจ้า
นี้ ผู้ทรงรู้ทรงเห็นอยู่อย่างนี้ เมื่อทรงจำแนกออกไป ตามชื่อ

มากมาย ตามวาระ 13 วาระ ตามนัย 52 นัย โดยนัยมีอาทิว่า รูปคืออะไร ?
คือรูปายตนะซึ่งได้แก่รูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง 4 แสดงออกเป็นสีแสง มีสีเขียว
สีเหลือง (เป็นต้น ) มีการกระทบได้ ดังนี้ ด้วยสามารถอิฏฐารมณ์และอนิฏ-
ฐารมณ์เป็นต้น หรือด้วยสามารถแห่งบทที่ได้อยู่ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่ได้ทราบ และธรรมารมณ์ที่ได้รู้แล้ว ก็เป็นอย่างนั้น
นั่นเอง ไม่มีผิดไปจากนั้น. ในเสียงเป็นต้น ที่มาสู่คลอง แม้ในโสตทวาร
เป็นต้น ก็มีนัยนี้.
บทว่า ตสฺมา ตถาคโตติ วุจฺจติ ความว่า พระพุทธเจ้า
บัณฑิตเรียกว่า ตถาคต เพราะสิ่งที่ชาวโลกกล่าวแล้วโดยประการใด ก็ตรัส
แล้วโดยประการนั้นเหมือนกัน. ส่วนคำใดที่ตรัสไว้ในพระบาลีว่า อภิสมฺพุทฺธํ
(ตรัสรู้แล้ว) คำนั้นมีความหมายเท่ากับตถาคตศัพท์. ด้วยคำว่า ตถาคโต นี้
เป็นอันทรงแสดงเนื้อความนี้ไว้ว่า ชื่อว่า ตถาคต เพราะความเป็นผู้ทรงแสดง
อย่างนั้นเป็นปกติ. สมจริงตามที่ท่านพระธรรมเสนาบดี (สารีบุตร) ได้กล่าว
ไว้แล้วว่า
ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่พระตถาคต-
เจ้าพระองค์นั้นไม่ทรงเห็น และที่ควรรู้
แต่ไม่ทรงรู้ พระองค์ทรงรู้ยิ่งทุกสิ่งที่ควร
แนะนำ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรง
เป็นผู้มีพระจักษุรอบด้าน (สมันตจักขุ).

ถึงในพระสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย เราตถาคตรู้สิ่งที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ พร้อมทั้งเทวดา
และมนุษย์ ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบได้รู้ ได้ประสบ ได้แสวงหา ได้ใคร่ครวญ

แล้วด้วยใจ เราตถาคต ได้รู้สิ่งนั้นแล้ว ตถาคตได้ทราบสิ่งนั้นแล้ว สิ่งนั้น
ได้ปรากฏแก่ตถาคตแล้ว.
บทว่า ยญฺจ ภิกฺขเว รตฺตึ ตถาคโต อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ
อภิสมฺพุชฺฌติ
(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้า ได้ตรัสรู้ อนุตร-
สัมมาสัมโพธิญาณ ในราตรีใด) ความว่า ก็ในราตรีที่มีพระจันทร์เพ็ญใน
วิสาขมาสใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะหมาย-
ความว่า เสด็จมาแล้วอย่างนั้นเป็นต้น ประทับนั่งบนบัลลังก์ที่ไม่มีใครพิชิตได้
ที่ดวงโพธิ์ ทรงทำลายศีรษะของมารทั้ง 3 แล้ว ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ
อันยอดเยี่ยม เพราะไม่มีญาณอื่นยิ่งกว่า คือ พระสัพพัญญุตญาณพร้อมด้วย
อาสวักขยญาณ. บทว่า ยญฺจ รตฺตึ อนุปาทิเสสาย นิพฺพานธาตุยา
ปรินิพฺพายติ
(และในราตรีใด ทรงปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน-
ธาตุ) ความว่า ก็ในราตรีที่มีพระจันทร์เพ็ญในวิสาขมาสใดนั่นแหละ พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า
ได้เสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในระหว่าง
นางรังทั้งคู่ ที่สาลวโนทยานอันเป็นสถานที่พักผ่อนของชาวมัลละ ในเมือง
กุสินารา. บทว่า ยํ เอตสฺมึ อนฺตเร ความว่า ในท่ามกลางระหว่าง
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุทั้ง 2 อย่างนี้ คือใน
ปฐมโพธิกาลบ้าง ในมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ในปัจฉิมโพธิกาลบ้าง ในระยะกาล
ประมาณ 45 ปี พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพระธรรมไว้ แยกประเภท
เป็นสุตตะ และเคยยะเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งการทรงชี้แจง คือ ตรัสบอก
ด้วยอำนาจแห่งการทรงยกขึ้นแสดง ทรงแสดงไขด้วยสามารถแห่งการทรง-
จำแนกออกไป. บทว่า สพฺพํ ตํ ตเถว โหติ (พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมด
ย่อมเป็นอย่างนั้นนั่นเอง) ความว่า พระพุทธพจน์ทั้งหมด คือ ที่มีองค์ 9
มีสุตตะและเคยยะเป็นต้นนั้น คือ ที่ทรงแสดงแล้วในระหว่างนี้ โดยอรรถและ

โดยพยัญชนะแล้ว ไม่มีที่น่าตำหนิ ไม่บกพร่อง ไม่เกิน บริบูรณ์โดยอาการ
ทุกอย่าง สร่างจากเมา คือ ราคะ ฯลฯ สร่างจากเมา คือ โมหะ ไม่มีข้อ
พลั้งพลาด แม้เพียงเท่าปลายขนทรายในพระพุทธพจน์นั้น เป็นอย่างนั้น
เท่านั้น เหมือนสิ่งที่ประทับด้วยดวงตราดวงเดียวกัน เหมือนสิ่งที่ตวงด้วย
ทะนานเดียวกัน และเหมือนสิ่งที่ชั่งด้วยเครื่องชั่งอย่างเดียวกัน ไม่เป็นอย่างอื่น
เพราะตรัสสอนเพื่อประโยชน์น์แก่ผู้ใดก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้นั้น โดยส่วน-
เดียวนั่นเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์นั้น จึงเป็นของแท้ ไม่แปรผัน
ไม่เป็นอย่างอื่น. ด้วยคำว่า ท่านแสดงว่า ชื่อว่าตถาคต เพราะเป็นผู้มีปกติ
ตรัสอย่างนั้น. คตศัพท์ นี้ มีความหมายเท่าคทะ เพราะแปลง ท อักษรเป็น
ต อักษร. เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า ชื่อว่า ตถาคต เพราะตรัสอย่างนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง การกล่าว ชื่อว่า อาคโท. ความหมายว่า การตรัส. การตรัส
อย่างนั้น คือ ไม่ผิดพลาด มีอยู่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เหตุนั้นพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า
จึงชื่อว่า ตถาคต เพราะแปลงอักษร ท. เป็นอักษร ต.
ผู้ศึกษาควรทราบบทสำเร็จรูป ในคำว่า ตถาคต นี้ ตามที่พรรณนามานี้เถิด.
บทว่า ยถาวาที ตถาการี ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ
ทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
มีโทษ วิญญูชนตำหนิ ที่บุคคลสมาทานครบถ้วนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข พระองค์ทรงละธรรมเหล่านั้นได้เอง
โดยส่วนเดียวนั่นแหละ. ส่วนธรรมเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ วิญญูชนสรรเสริญ ที่บุคคลสมาทานครบ
ถ้วนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ธรรมเหล่านั้น
พระองค์ทรงเข้าถึงด้วยพระองค์เองอยู่แล้ว โดยส่วนเดียว. เพราะเหตุนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า พึงทราบว่า ตรัสอย่างใดก็ทรงทำได้อย่างนั้น. บทว่า
ยถาการี ตถาวาที ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปฏิบัติชอบแล้ว
ด้วยสามารถแห่งการยังศีลเป็นต้นให้บริบูรณ์ ชื่อว่า ทรงทำอย่างใดด้วยพระ
องค์เอง ก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยสามารถแห่งการยังผู้อื่น ให้ดำรงอยู่ในธรรมมี
ศีลเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยพระธรรมเทศนา. อธิบายว่า พระวรกายของ พระ
ผู้มีพระภาคเจ้า
อนุโลมตามพระวาจา แม้พระวาจาก็ทรงอนุโลมตามพระกาย.
เพราะเหตุนั้นพระองค์ จึงชื่อว่า เป็นผู้ตรัสอย่างใด ก็ทรงทำอย่างนั้น และ
ทรงทำอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น. อนึ่ง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ทรงเป็นอย่างนั้น มีพระวาจาอย่างใด แม้พระกายก็ไปแล้ว คือ เป็นไป
แล้ว อย่างนั้น และพระกายของพระองค์เป็นไปแล้ว (ทรงทำ) อย่างใด แม้
พระวาจาก็ไปแล้ว คือเป็นไปแล้วอย่างนั้น.
บทว่า อภิภู อนภิภูโต ความว่า เบื้องบนจรดภวัคคพรหม เบื้อง
ล่างจรดอเวจีนรก เป็นที่สุด ด้านขวางในโลกธาตุหาประมาณมิได้ พระผู้มี
พระภาคเจ้า
ทรงครอบงำสัตว์ทั้งมวล ด้วยศีลบ้าง ด้วยสมาธิบ้าง ด้วย
ปัญญาบ้าง ด้วยวิมุตติบ้าง ด้วยวิมุตติญาณทัสนะบ้าง พระองค์ไม่มีใครชั่ง
ไม่มีประมาณ ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้สม่ำเสมอ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ไม่มีผู้เทียม
ไม่มีบุคคลเทียม ไม่มีผู้เท่า ไม่มีผู้เปรียบเทียบ ทรงเป็นพระราชาไม่มีผู้ยิ่ง
กว่า ทรงเป็นเทพเหนือเทพ ทรงเป็นท้าวสักกะเหนือท้าวสักกะ ทรงเป็นพระ
พรหมเหนือพระพรหม เพราะเหตุนั้นนั่นเอง จึงไม่มีใครครอบงำพระองค์
ได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนภิภูโต (ไม่มีผู้ครอบงำได้.
ศัพท์ว่า อญฺญทตฺถุ เป็นนิบาต. ใช้ในความหมายว่า โดยส่วนเดียว. อธิบายว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชื่อว่า เนยยะ (ควรแนะนำ ควรรู้) สิ่งนั้นทั้งหมด จะเห็นได้

เหมือนผลมะขามป้อมในอุ้งมือ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทสะ (ผู้ทรงเห็น).
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระหามว่า วสวัตดี เพราะทรงให้สัตว์ทั้งหลาย
เป็นไปในอำนาจ ด้วยการทรงทราบอาสยะเป็นต้น (ของเขา) ไม่มีผิดพลาด
และด้วยการทรงนำเขาให้เข้าไปหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงให้สังขารทั้งหลายเป็น
ไปในอำนาจ ด้วยสามารถแห่งการนำไปสู่ความเป็นอย่างอื่นตามภาวะ (ทรง-
บังคับพระกายได้) ทรงยังสมาบัติและจิตให้เป็นไปในอำนาจ เพราะทรง
ประพฤติมาจนชำนาญ โดยอาการทุกอย่าง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระ
ภาคเจ้า
ชื่อว่า ทรงแสดงความที่พระองค์ทรงเป็นพระตถาคต เพราะความ
หมายว่าทรงครอบงำ. (สัตว์).
ในข้อนั้น พึงทราบบทสำเร็จรูป ดังต่อไปนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ทรงเป็นเสมือนมียาขนานวิเศษ จึงทรงพระนามว่า อคทะ ก็ยาขนานวิเศษ
นั้น ได้แก่อะไร ? ได้แก่ ความงามแห่งพระธรรมเทศนา และความหนาแน่น
แห่งบุญ. อธิบายว่า ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้า นั่นจึงทรง
มีพุทธานุภาพมาก ทรงครอบงำผู้ใส่ร้ายทุกคนและสัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ได้เหมือนหมองู ปราบงูด้วยยาทิพย์ ฉะนั้น. ยาขนานวิเศษ คือ ความงาม
แห่งพระธรรมเทศนาและความหมายแน่นแห่งบุญ ที่เป็นยาขนานที่แท้ คือไม่
ปลอม ในการทรงครอบงำ (รักษา) สัตวโลกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมี
อยู่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พึงทราบว่า ทรงพระนามว่า
ตถาคต โดยแปลงอักษร ท. ให้เป็นอักษร ต. ด้วยประการดังนี้. ด้วยเหตุ
นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต
ครอบงำสัตวโลก พร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ ยังอำนาจให้เป็นไป เพราะเหตุนั้น
บัณฑิตจึงเรียกว่า พระตถาคต.

พึงทราบวินิจฉัย ในคาถาทั้งหลายต่อไป. บทว่า โลกํ อภิญฺญาย
ความว่า ทรงรู้ขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยในโลกธาตุทั้ง 3. บทว่า สพฺพโลเก
ยถาตถํ
ความว่า ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรรู้ ในขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยในโลก
ธาตุทั้ง 3 นั้น ตามที่เป็นจริงคือไม่ผิด. บทว่า สพฺพโลกวิสํยุตฺโต
ความว่า ทรงพรากไปคือ ทรงพ้นไปแล้วจากโลกแม้ทั้งหมด ด้วยการทรงละ
โยคะ 4 อย่างโดยไม่มีเหลือ. บทว่า อนูสโย ความว่า พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า
ชื่อว่า ไม่ทรงมีอุสยกิเลส (กิเลสที่หนาแน่น) โดยอุสยกิเลส คือ
ตัณหา และทิฏฐิ คือทรงละเว้นจากอุสยกิเลสเหล่านั้น ในโลกแม้ทั้งหมด.
บทว่า สพฺพาภิภู ความว่า ผู้ทรงครอบงำอารมณ์ทั้งหมด มีรูปเป็นต้น คือ
สังขารทั้งหมด ได้แก่ มารแม้ทั้งหมดแล้วดำรงอยู่. บทว่า ธีโร ได้แก่
ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เครื่องทรงจำ. บทว่า สพฺพคณฺฐปฺปโมจโน ความว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปลื้องกิเลสมีกายคันถะ คือ อภิชฌาเป็นต้น
ทั้งหมดเสด็จดำรงอยู่แล้ว ชื่อว่า ทรงเปลื้องกิเลส คือ คันถะทั้งหมดออกไปได้
เพราะทรงเปลื้องกิเลสเหล่านั้นออกจากสันดานของเวไนยสัตว์ ด้วยพระธรรม
เทศนาที่ไพเราะของพระองค์. บทว่า ผุฏฺฐสฺส ตัดบทเป็น ผุฏฺฐา อสฺส
(แปลว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ทรงสัมผัสแล้ว). คำว่า อสฺส
นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในความหมายของตติยาวิภัตติ. ความหมายว่า อันพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ทรงสัมผัสแล้ว. บทว่า ปรมา สนฺติ (ความ-
สงบอันยอดยิ่ง) ได้แก่ พระนิพพาน. เพราะว่า พระนิพพานนั้น อันพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงสัมผัสแล้ว ด้วยการสัมผัสด้วยญาณนั้น. ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า พระนิพพาน จะมีภัยมาจากไหน.
อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า ปรมา สนฺติ ได้แก่ความสงบอย่างยอดเยี่ยม.
ถามว่า ความสงบอย่างยอดเยี่ยมนั้น คืออะไร ? ตอบว่า คือพระนิพพาน.

ก็เพราะเหตุที่ในพระนิพพาน จะมีภัยมาแต่ไหน ฉะนั้น พระนิพพานนั้น
พระองค์จึงตรัสว่า จะมีภัยมาแต่ไหน. บทว่า อนิโฆ ได้แก่ ทรงไม่มีทุกข์.
บทว่า สพฺพโลกวิสํยุตฺโต ความว่า ทรงถึงความสิ้นไป คือ ความสิ้นสุด
ได้แก่ ความไม่มีโดยส่วนเดียว แห่งกรรมทั้งมวล. บทว่า วิมุตฺโตอุปธิสํขเย
ความว่า ทรงหลุดพ้นแล้ว ควยผลวิมุตติ ที่มีพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ใน
พระนิพพาน กล่าวคือ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ. บทว่า เอส โส เท่ากับ
เอโส โส (แปลว่า นั้นนั่น). บทว่า สีโห อนุตฺตโร ความว่า พระ
ตถาคตเจ้า
ทรงพระนามว่า เป็นยอดสีหะ เพราะความหมายว่า ทรงอด
กลั้นอันตรายทั้งหลายได้ และเพราะความหมายว่า ทรงฆ่ากิเลสได้. บทว่า
พฺรหฺมํ ความว่า ประเสริฐสุด. บทว่า จกฺกํ ได้แก่ พระธรรมจักร.
บทว่า ปวตฺตติ ความว่า ทรงหมุน (แสดง) พระธรรมจักรให้ได้ 3 รอบ
มีอาการ 12. บทว่า อิติ ความว่า ทราบพระคุณของพระตถาคตอย่างนี้
แล้ว. บทว่า สงฺคมฺม ได้แก่ มาชุมนุมกัน. บทว่า ตํ นมสฺสนฺติ
ความว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
พากันนมัสการพระตถาคตเจ้า พระองค์นั้น ผู้ชื่อว่า มีพระคุณใหญ่
เพราะทรงประกอบด้วยคุณความดี มีศีลเป็นต้นมากมาย ผู้ชื่อว่า ทรงปราศ
จากความครั่นคร้าม เพราะทรงประกอบด้วยพระธรรมที่ทำให้ทรงแกล้วกล้า
4 อย่าง.
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น พากันเอ่ยถึงพลาง นมัสการไปพลาง จึงได้ตรัสคำมี
อาทิไว้ว่า ทนฺโต. คำนั้นมีเนื้อความง่ายอยู่แล้วแล.
จบอรรถกถาโลกสูตรที่ 13

ในจตุกนิบาตนี้ พึงเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสวัฏฏะไว้ใน
สูตรที่ 6 และที่ 7 ได้ตรัสวิวัฏฏะไว้ในสูตรที่ 2 ที่ 3 ที่ 1 ที่ 12 และ
ที่ 13. ได้ตรัสทั้งวัฏฏะทั้งวิวัฏฏะไว้ในสูตรที่เหลือ ด้วยประการดังนี้.
จบอรรถกถาจตุกนิบาต อิติวุตตกะ อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อ
ปรมัตถทีปนี ด้วยประการดังนี้แล.

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. พราหมณสูตร 2. จัตตาริสูตร 3. ชานสูตร 4. สมณสูตร
5. ศีลสูตร 6. ตัณหาสูตร 7. พรหมสูตร 8. พหุการสูตร 9. กุหนา-
สูตร 10. ปุริสสูตร 11. จรสูตร 12. สัมปันนสูตร 13. โลกสูตร และ
อรรถกถา.
จบอิติวุตตกะ