เมนู

อรรถกถาสุขสูตร


ในสุขสูตรที่ 7 พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สุขานิ ได้แก่ เหตุแห่งความสุข. บทว่า ปตฺถยมาโน
ความว่า ปรารถนาอยู่ คือ จำนงหมายอยู่. บทว่า สีลํ ได้แก่ ทั้งศีลของ
คฤหัสถ์ และศีลของบรรพชิต อธิบายว่า ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องรักษาศีลของ
คฤหัสถ์ ถ้าเป็นบรรพชิต ก็ต้องรักษาจาตุปาริสุทธิศีล. บทว่า รกฺเขยฺย
ความว่า สมาทานแล้วไม่ล่วงละเมิด รักษาไว้ด้วยดีนั่นเอง.
บทว่า ปสํสา เม อาคจฺฉตุ ความว่า ผู้ฉลาดคือผู้มีปัญญา
ปรารถนาอยู่ว่า ขอกิตติศัพท์อันดีงามของเราจงมาถึงดังนี้ รักษาศีล. อธิบายว่า
กิตติศัพท์อันดีงามของคฤหัสถ์ผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปในท่ามกลางบริษัท โดย
นัยมีอาทิว่า บุตรของตระกูลโน้น ชื่อโน้น เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มี
ศรัทธา เลื่อมใสแล้ว เป็นผู้ให้ (ทาน) เป็นผู้บำเพ็ญ (บุญ) ดังนี้ก่อน
กิตติศัพท์อันดีงามของบรรพชิต ย่อมฟุ้งขจรไปในท่ามกลางบริษัท โดยนัยมี
อาทิว่า ภิกษุชื่อโน้นเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร สงบเสงี่ยม อยู่ร่วมด้วยสบาย
มีความเคารพ มีความยำเกรง ดังนี้ . สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนคฤหบดี
ทั้งหลาย ยังมีอีกข้อหนึ่ง กิตติศัพท์อันดีงามของผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมฟุ้งขจรไป ดังนี้.
อนึ่ง ดังที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากภิกษุพึงหวัง
อยู่ว่า ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่นับถือของ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายดังนี้ไซร้ เธอต้องเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย
นั่นเอง.