เมนู

ต่อไปนี้เป็นความย่อแห่งคาถาว่า โยนิโส มนสิกาโร. ชื่อว่า เสกขะ
เพราะยังต้องศึกษาสิกขาบททั้งหลาย หรือเพราะยังมีการศึกษาอยู่เป็นปกติ.
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเห็นภัยในสงสาร. ธรรมไร ๆ อื่นที่มีอุปการะมาก
เหมือนอย่างโยนิโสมนสิการ เพื่อให้ภิกษุผู้ยังเป็นเสกขะนั้นบรรลุพระอรหัต
อัน มีประโยชน์อย่างสูงสุด ย่อมไม่มี. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะ
พระโยคาวจรมุ่งมนสิการ โดยอุบายอันแยบคาย แล้วเริ่มตั้งความเพียรด้วย
สัมมัปปธาน 4 อย่าง พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ คือ พึงถึง พึงบรรลุพระนิพพาน
อันเป็นที่สิ้นสุดวัฏทุกข์อันเศร้าหมองสิ้นเชิง ฉะนั้น โยนิโสมนสิการจึงเป็น
ธรรมมีอุปการะมาก ดังนี้.
จบอรรถกถาปฐมเสกขสูตรที่ 6

7. ทุติยเสขสูตร


ว่าด้วยความมีมิตรดี


[195] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ
มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตผล
ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่ง
อย่างอื่น การทำเหตุที่มี ณ ภายนอกว่ามีอุปการะมาก เหมือนความมีมิตรดี
นี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดีย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญ
กุศลให้เกิดมี.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มี
พระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ภิกษุใดผู้มีมิตรดี มีความยำเกรง
ความเคารพ กระทำตามคำของมิตรดี
ทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ ภิกษุนั้นพึง
บรรลุธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์
ทั้งปวงโดยลำดับ.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า
ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.
จบทุติยเสขสูตรที่ 7

อรรถกถาทุติยเสขสูตร


ในทุติยเสขสูตรที่ 7 พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ต่อไปนี้ :-
บทว่า พาหิรํ ได้แก่ เหตุที่มี ณ ภายนอก จากสันดานในภายใน.
บทว่า กลฺยาณมิตฺตตา ได้แก่บุคคลผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เป็นผู้
กำจัดความชั่วร้าย เป็นผู้ส่งเสริมประโยชน์ เป็นมิตรมีอุปการะทุกสิ่งทุกอย่าง
ชื่อว่า เป็นกัลยาณมิตร. ความเป็นกัลยาณมิตรนั้นชื่อว่า กลฺยาณมิตฺตตา.
ในบทว่า กลฺยาณมิตฺตตา นั้นมีอธิบายดังนี้ ตามปกติกัลยาณมิตร
นี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา.
กัลยาณมิตรเพราะถึงพร้อมด้วยศรัทธา ย่อมเชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต
ย่อมไม่สละการแสวงหาประโยชน์สุขในสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการ
ตรัสรู้ชอบนั้น เพราะถึงพร้อมด้วยศีล จึงย่อมเป็นที่รัก และเป็นที่เคารพของ
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้น่ายกย่อง คอยตักเตือน ตำหนิบาป คอย-