เมนู

ชื่อว่า ไม่มีอารมณ์ เพราะไม่มีอารมณ์อะไร ๆ เป็นที่ยึดเหนี่ยว และ
เพราะไม่มุ่งถึงอารมณ์ที่อุปถัมภ์ เหมือนสัมปยุตธรรมมีเวทนาเป็นต้น
แม้ที่มีสภาวะเป็นอรูป (เป็นนาม) ฉะนั้น พระนิพพานนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
อายตนะ. ก็ เอว ศัพท์นี้ พึงประกอบด้วยบททั้งสองคือ อปฺปติฏฺฐเมว
อปฺปวตฺตเมว. บทว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ความว่า พระนิพพานซึ่งมี
ลักษณะตามที่กล่าวแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญชมเชย ด้วย
คำมีอาทิว่า อปฺปติฏฺฐํ ดังนี้นั่นแหละ ชื่อว่าเป็นที่สุด คือเป็นที่สิ้นสุดแห่ง
วัฏทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเมื่อมีการบรรลุพระนิพพาน ทุกข์ทั้งหมดก็ไม่มี
เพราะเหตุฉะนั้น จึงทรงแสดงว่า พระนิพพานนั้น มีสภาวะเป็นดังนี้ว่า
เป็นที่สุดแห่งทุกข์นั่นแล.
จบอรรถกถาปฐมนิพพานสูตรที่ 1

2. ทุติยนิพพานสูตร



ว่าด้วยฐานะที่เห็นได้ยากคือนิพพาน



[159] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระ-
ผู้มีพระภาคเจ้า ทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ
ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำ
ให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟัง
ธรรม.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความแล้ว จึง
ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก ชื่อว่านิพพาน ไม่มี
ตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดย
ง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่อง
กังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่.

จบทุติยนิพพานสูตรที่ 2

อรรถกถาทุติยนิพพานสูตร



ทุติยนิพพานสูตรที่ 2

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเปล่งอุทานนี้
อันแสดงถึงภาวะที่พระนิพพานเห็นได้ยาก เพราะตามปกติเป็นคุณชาต
ลึกซึ้ง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุทฺทสํ ความว่า พระนิพพาน ชื่อว่า
เห็นได้ยาก เพราะใคร ๆ ไม่สามารถจะเห็นได้ ด้วยเครื่องปรุงคือญาณที่
ไม่เคยได้สั่งสมอบรมมาเพราะมีสภาวะลึกซึ้ง และเพราะมีสภาวะสุขุม
ละเอียดอย่างยิ่ง. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนมาคัณฑิยะ ก็ท่าน
ไม่มีปัญญาจักษุอันเป็นอริยะ ที่เป็นเหตุให้ท่านรู้ความไม่มีโรค ทั้งเป็น
เครื่องเห็นพระนิพพาน. พระองค์ตรัสไว้อีกว่า ฐานะแม้เช่นนี้ คือความ
สงบแห่งสรรพสังขารนี้เห็นได้ยาก ดังนี้เป็นต้น. บทว่า อนฺตํ ความว่า
ตัณหา ชื่อว่า นตะ เพราะน้อมไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น และในภพมี