เมนู

7. สุภูติสูตร



ว่าด้วยผู้กำจัดวิตกทั้งหลายไม่กลับมาสู่ชาติ



[143] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล
ท่านพระสุภูตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิอันไม่วิตกอยู่ในที่ไม่ไกล
พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระสุภูติ นั่งคู้
บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิอันไม่มีวิตกอยู่ในที่ไม่ไกล.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรง
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ผู้ใดกำจัดวิตกทั้งหลายได้แล้ว กำหนดดีแล้ว
ไม่มีส่วนเหลือในภายใน ผู้นั้นล่วงกิเลสเครื่องข้อง
ได้แล้ว มีความสำคัญนิพพานอันเป็นอรูป ล่วงโยคะ
4 ได้แล้ว ย่อมไม่กลับมาสู่ชาติ.

จบสุภูมิสูตรที่ 7

อรรถกถาสุภูติสูตร



สุภูติสูตรที่ 7

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สุภูติ เป็นชื่อของพระเถระนั้น. จริงอยู่ ท่านผู้มีอายุนั้น
ได้สร้างอภินิหารไว้ที่บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าปทุมุต-
ตระ ก่อสร้างบุญสมภารไว้ตลอดแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิด

ในตระกูลใหญ่มีสมบัติมาก ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วเกิดธรรมสังเวช ออกจากเรือนบวช เพราะได้สร้างบุญญาธิการไว้
เพียรพยายามอยู่ ไม่นานนักก็ได้อภิญญา 6 แต่เพราะถึงบารมีสูงสุดแห่ง
พรหมวิหารภาวนา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสถาปนาไว้ในเอตทัคคะใน
ทางอยู่อย่างไม่มีกิเลสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา
ผู้อยู่ในทางหากิเลสมิได้ สุภูติเป็นเอตทัคคะ. วันหนึ่ง เวลาเย็น ท่านจาก
ที่พักกลางวันหยั่งลงสู่ลานวิหาร เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดง
ธรรมในท่ามกลางบริษัท 4 กำหนดเวลาว่า เวลาจบเทศนา เราจะลุกไป
ถวายบังคม จึงนั่งเข้าผลสมาบัติ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่ไกลพระผู้มี-
พระภาคเจ้า เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สมัยนั้นแล ท่านสุภูติ ฯ ล ฯ เข้า
ผลสมาบัติ
.
ในการเข้าสมาบัตินั้น เริ่มตั้งแต่ทุติยฌานไป รูปาวจรสมาธิก็ดี
อรูปาวจรสมาธิทั้งหมดก็ดี ก็คืออวิตักกสมาธินั่นเอง. แต่ในที่นี้ อรหัต-
ผลสมาธิที่มีจตุตถฌานเป็นบาท ท่านประสงค์เอาว่า อวิตักกสมาธิ. มิจฉา-
วิตกที่ทุติยฌานเป็นต้นละแล้ว จัดว่ายังละไม่ดีก่อน เพราะไม่มีการละ
อย่างเด็ดขาด ส่วนที่พระอริยมรรคละนั่นแหละ จัดว่าละด้วยดี เพราะ
ไม่มีกิจที่จะละต่อไป. เพราะฉะนั้น อรหัตผลสมาธิอันเป็นที่สุดแห่งอรหัต-
มรรค เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการละมิจฉาวิตกทั้งสิ้น เมื่อว่าโดยพิเศษ
จึงควรกล่าวไว้ว่า อวิตักกสมาธิ จะป่วยกล่าวไปไยถึงการมีจตุตถฌาน
เป็นบาทเล่า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็ในที่นี้ อรหัตผลสมาธิที่มี
จตุตถฌานเป็นบาท ท่านประสงค์เอาว่าอวิตักกสมาธิ.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงรู้โดยอาการทั้งปวงถึงอรรถ
นี้ กล่าวคือการที่ท่านสุภูติละกิเลส คือมิจฉาวิตกทั้งหมดได้ จึงทรง
เปล่งอุทานนี้
อันแสดงความนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส วิตกฺกา วิธูปิตา ความว่า พระ-
อริยบุคคลใดกำจัดมิจฉาวิตกแม้ทั้งหมด มีกามวิตกเป็นต้น คือทำให้สงบ
ได้แก่ตัดขาดด้วยอริยมรรคญาณ. บทว่า อชฺฌตฺตํ สุวิกฺปฺปิตา อเสสา
ความว่า กำหนดไว้ดี คือกำหนดด้วยดีโดยไม่เหลือ อันควรเกิดขึ้นใน
สันดานตน กล่าวคือภายในตน อธิบายว่า ตัดขาดด้วยดี โดยไม่เหลือ
แม้อะไร ๆ ไว้. บทว่า ตํ ในบทว่า ตํ สงฺคมติจฺจ อรูปสญฺญี นี้ เป็น
เพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง ตํ ศัพท์ มีเหตุเป็นอรรถ. ก็เพราะเหตุที่
พระอริยบุคคลตัดมิจฉาวิตกได้เด็ดขาด ฉะนั้น พระอริยบุคคลนั้นจึงชื่อว่า
มีความสำคัญในอรูป ด้วยมรรคสัญญาและผลสัญญาอันเป็นไปโดยกระทำ
พระนิพพานอันได้นามว่า อรูป ให้เป็นอารมณ์ เพราะไม่มีสภาวะแห่งรูป
และไม่มีวิการคือความแปรผันในพระนิพพานนั้น หรือเพราะไม่มีเหตุ
แห่งความพิการ เหตุที่ล่วงเลยพ้นเครื่องข้อง 5 อย่าง มีเครื่องข้องคือ
ราคะเป็นต้น หรือเครื่องข้องคือกิเลสแม้ทั้งหมด. บทว่า จตุโยคาติคโต
ได้เเก่ก้าวล่วงซึ่งโยคะ 4 คือ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และ
อวิชชาโยคะ ด้วยมรรคทั้ง 4 ตามสมควร. อักษรในบทว่า น ชาตุ เมติ
นี้ กระทำการเชื่อมบท. ความว่า ย่อมไม่กลับมาเพื่อเกิดในภพใหม่โดย
ส่วนเดียวแท้ คือท่านไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป. บางอาจารย์กล่าวว่า
น ชาติ เมติ ดังนี้ก็มี ความก็อันนั้นแหละ. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงปรารภธรรมเครื่องอยู่ คืออรหัตผลสมาบัติ และอนุปาทิเสสนิพพาน
ของท่านสุภูติ จึงทรงเปล่งอุทานอันเกิดจากกำลังปีติ.
จบอรรถกถาสุภูติสูตรที่ 7

8. คณิกาสูตร



ว่าด้วยบุคคล 2 พวก ส่วนสุด 2 อย่าง



[144] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลัน-
ทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์
มีนักเลง 2 พวก เป็นผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงแพศยาคนหนึ่ง เกิด
ความบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ประหยัดประหารกันและกัน ด้วย
ฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาสตราบ้าง นักเลง
เหล่านั้นถึงความตายในที่นั้นบ้าง ถึงความทุกข์ปางตายบ้าง ครั้งนั้นแล
เป็นเวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกัน นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยัง
พระนครราชคฤห์ ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจาก
บิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย
บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ในพระนคร
ราชคฤห์ มีนักเลง 2 พวก เป็นผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงแพศยา
คนหนึ่ง . . . ถึงความตายในที่นั้นบ้าง ถึงความทุกข์ปางตายบ้าง พระ-
เจ้าข้า.