เมนู

ชนทั้งหลายผู้ไม่สำรวมแล้ว ย่อมทิ่มแทงชน
เหล่าอื่นด้วยวาจา เหมือนเหล่าทหารที่เป็นข้าศึกทิ่ม-
แทงกุญชรตัวเข้าสงครามด้วยลูกศรฉะนั้น ภิกษุผู้มี
จิตไม่ประทุษร้าย ฟังคำอันหยาบคายที่ชนทั้งหลาย
เปล่งขึ้นแล้ว พึงอดกลั้น.

จบสุนทรีสูตรที่ 8

อรรถกถาสุนทรีสูตร



สุนทรีสูตรที่ 8 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
อรรถแห่งบทมีอาทิว่า สกฺกโต ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง
นั่นแล. บทว่า อสหมานา แปลว่า อดทนไม่ได้. อธิบายว่า ขึ้งเคียด
(ริษยา). เชื่อมความว่า ไม่อดทนสักการะของภิกษุสงฆ์. บทว่า สุนฺทรี
เป็นชื่อของนาง.
ได้ยินว่า ในเวลานั้น บรรดานางปริพาชิกาทั้งหมด นางเป็นผู้มี
รูปงาม น่าชม น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยสีกายงามอย่างยิ่ง เหตุนั้นนั่นแล
นางจึงปรากฏว่า สุนทรี. ก็นางยังไม่ผ่านวัยสาวไป ไม่สนใจในด้านความ
ประพฤติ. เพราะเหตุนั้น อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นจึงส่งเสริมนางไปในบาป-
กรรม. จริงอยู่ อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เสื่อมลาภสักการะไปเอง จำเดิม
แต่เวลาที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น เห็นลาภและสักการะมากหาประมาณมิได้
เป็นไปอยู่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ โดยนัยที่มาแล้วในอรรถกถา
อักโกสสูตรในหนหลัง จึงพากันริษยา ร่วมปรึกษากันว่า จำเดิมแต่กาล

ที่พระสมณโคดมอุบัติแล้ว พวกเราพากันฉิบหาย เสื่อมลาภสักการะ
ใคร ๆไม่รู้ว่าพวกเรามีอยู่ เพราะอาศัยเหตุอะไรหนอ ชาวโลกจึงพากัน
เลื่อมใสยิ่งนักในพระสมณโคดม จึงน้อมนำสักการะเข้าไปถวายเป็น
อันมาก. ในบรรดาอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น คนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า พระสมณ-
โคดม ประสูติแต่ตระกูลสูง ทรงประสูติตามประเพณีของมหาสมมติราช
อันไม่เจือปน. อีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้น ในกำเนิดแห่งตระกูลวงศ์ พระองค์
มีเหตุน่าอัศจรรย์ปรากฏมากมาย. คนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า เท้าทั้ง 2 ของพระองค์
ผู้ที่น้อมนำเข้าไปไหว้กาฬเทวิลดาบส เปลี่ยนกลับไปตั้งที่ชฎาของเทวิล-
ดาบสนั้น. อีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า ในมงคลกาลที่หว่านพืช เมื่อพระองค์
ทรงบรรทมที่เงาแห่งต้นหว้า แม้เมื่อเที่ยงวันล่วงไปแล้ว เงาแห่งต้นหว้า
คงตั้งอยู่ไม่เปลี่ยนไปตาม. คนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า พระองค์มีรูปงาม น่าชม
น่าเลื่อมใส เพราะสมบูรณ์ด้วยพระโฉม. อีกคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า พระองค์
ทอดพระเนตรเห็นนิมิต คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต ทรง
เกิดความสังเวช ทรงละจักรพรรดิราช อันจะมาถึงแล้ว ทรงบรรพชา.
พวกอัญญเดียรถีย์ ไม่รู้บุญสมภาร ของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันไม่ทั่วไป
แก่ผู้อื่น ซึ่งพระองค์เคยสั่งสมมาตลอดกาลหาประมาณมิได้ สัลเลขปฏิ-
ปทา อันหาที่เปรียบมิได้ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีพระบารมีอันสูงสุด และ
พุทธานุภาพมีญาณสัมปทา และปหานสัมปทา เป็นต้น อันยอดเยี่ยม จึง
ระบุถึงเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่นับถือมากนั้น ๆ ตามที่ตนได้เห็น
ได้ยินมา จึงแสวงหาเหตุที่พระองค์จะไม่เป็นที่นับถือ เมื่อไม่พบจึงคิดว่า
เพราะเหตุอะไรหนอ พวกเราจะพึงทำความเสื่อมยศให้เกิด และทำลาภ
สักการะของพระสมณโคดมให้เสื่อมเสีย. บรรดาอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น

คนหนึ่งมีความคิดเฉียบแหลม เอ่ยขึ้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ธรรมดาว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้จะไม่ข้องอยู่ในความสุขอันเกิดแต่มาตุคาม
ย่อมไม่มีในสัตวโลกนี้ ก็พระสมณโคดมนี้ มีรูปงาม เปรียบด้วยเทพ
ยังหนุ่มแน่น ควรจะได้มาตุคามที่มีรูปร่างเสมอตนมาแนบชิด ถ้าแม้น
ไม่พึงพิสมัย ฝ่ายประชาชนก็จะพึงระแวง เอาเถอะพวกเราจะส่งสุนทรี-
ปริพาชิกาไป โดยประการที่ความเสียชื่อเสียงของพระสมณโคดม จึงแผ่
กระจายไปในพื้นปฐพี.
ฝ่ายอัญญเดียรถีย์นอกนี้ ได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า เรื่องนี้ท่านคิดถูก
ต้องแล้ว ก็เมื่อเราทำอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมก็จะมีพระหทัยวุ่นวาย
ไปด้วยความเสียชื่อเสียง ไม่อาจจะเงยศีรษะขึ้นได้ ก็จักหนีไปโดยอาการ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้แล้วจึงมีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกันทั้งหมด พากัน
ไปหานางสุนทรีเพื่อจะส่งเธอไป. นางเห็นอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น จึงกล่าว
ว่า ทำไมพวกท่านจึงพร้อมหน้าพร้อมตากันมา. พวกเดียรถีย์ทั้งหลาย
ทำที่ไม่พูดกัน นั่งในที่กำบังท้ายอาราม. นางก็ไปในที่นั้นพูดแล้วพูดเล่า
ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงถามว่า ดิฉันมีความผิดอะไรต่อท่าน ทำไมจึงไม่ให้
คำตอบแก่ฉัน ? พวกเดียรถีย์ย้อนถามว่า ก็เจ้าเพิกเฉยเราผู้ถูกเบียดเบียน
หรือเปล่า ? นางถามว่า ใครเบียดเบียนพวกท่าน. พวกเดียรถีย์ตอบว่า
พระสมณโคดมเบียดเบียนพวกเรา เที่ยวทำเราให้เสื่อมลาภสักการะ. เจ้า
ไม่เห็นหรือ เมื่อนางถามว่า ดิฉันจะทำอย่างไรในข้อนั้น จึงกล่าวว่า
ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงไปที่ใกล้พระเชตวันเนือง ๆ พึงพูดอย่างนี้และอย่างนี้
แก่มหาชน. ฝ่ายนางรับว่า ดีละ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อัญญ-

เดียรถีย์ปริพาชิกา อดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ ดังนี้
เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุสฺสหสิ แปลว่า ย่อมอาจ. บทว่า
อตฺถํ ได้แก่ ประโยชน์เกื้อกูล หรือกิจ. บทว่า กฺยาหํ ตัดเป็น กึ อหํ
แปลว่า เราจะทำอย่างไร ?
เพราะเหตุที่เดียรถีย์เหล่านั้น แม้ไม่ใช่เป็นญาติของนาง แต่ก็เป็น
เหมือนญาติ เพื่อจะสงเคราะห์นาง ด้วยเหตุเพียงสัมพันธ์กันในทางบวช
จึงกล่าวว่า น้องหญิง เธออาจเพื่อจะทำประโยชน์แก่พวกญาติได้หรือ.
เพราะฉะนั้น แม้นางก็ยังเกี่ยวข้องอยู่ เหมือนเถาวัลย์พันที่เท้า จักกล่าวว่า
แม้ชีวิตของดิฉันก็สละได้เพื่อประโยชน์แก่พวกญาติ. บทว่า เตนหิ
ความว่า พวกเดียรถีย์กล่าวว่า เพราะเหตุที่เจ้ากล่าวว่า แม้ชีวิตของเรา
ก็สละได้เพื่อประโยชน์แก่พวกท่าน และเจ้าก็ตั้งอยู่ในปฐมวัย มีรูปงาม
เลอโฉม ฉะนั้น เจ้าพึงทำประการที่พระสมณโคดมจักเกิดความเสียชื่อเสียง
เพราะอาศัยเธอ ดังนี้แล้วจึงส่งไปด้วยคำว่า จงไปยังพระเชตวันเนือง ๆ.
ฝ่ายนางแลเป็นคนโง่ เป็นเหมือนประสงค์จะเล่นเชือกที่ร้อยดอกไม้ ที่
คลองแห่งฟันเลื่อย เหมือนจับงวงช้างดุตัวซับมัน และเหมือนยื่นหน้า
เข้าไปหาความตาย จึงรับคำของพวกเดียรถีย์ แล้วถือเอาดอกไม้ของหอม
เครื่องลูบไล้ หมากพลู และเครื่องอบหน้าเป็นต้น ในเวลาที่มหาชนฟัง
พระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเข้าไปสู่พระนคร นางบ่ายหน้าไปยัง
พระเชตวัน และถูกถามว่า เธอจะไปไหน ? จึงตอบว่า ไปสำนักพระ-
สมณโคดม เพราะดิฉันอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมนั้น
ดังนี้แล้ว จึงอยู่ในอารามของเดียรถีย์แห่งหนึ่ง พอเช้าตรู่ก็แวะเข้าทาง

พระเชตวัน มุ่งหน้ามาพระนคร และถูกถามว่า สุนทรีไปไหนมา จึงตอบ
ว่า ฉันอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ให้ท่านรื่นรมย์ยินดี
ด้วยกิเลสแล้วจึงมา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นางสุนทรีปริพาชิกา
รับคำของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า
แล้วได้ไปยังเชตวันเนือง ๆ.
โดยล่วงไป 2-3 วัน พวกเดียรถีย์จึงให้ค่าจ้างแก่พวกนักเลงแล้ว
กล่าวว่า พวกท่านจงไปฆ่านางสุนทรี แล้วหมกไว้ในระหว่างกองหยากเยื่อ
ไม่ไกลพระคันธกุฎีของพระสมณโคดมแล้ว จงมา. พวกนักเลงก็ได้ทำ
อย่างนั้น. ลำดับนั้น พวกเดียรถีย์ทำความวุ่นวายว่า ไม่เห็นนางสุนทรี
จึงกราบทูลแก่พระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านสงสัยในที่ไหน
เล่า จึงกราบทูลว่า หลายวันมานี้ นางยังอยู่ในพระเชตวัน พวกข้า-
พระองค์ไม่ทราบเรื่องของนางในที่นั้น พระราชาตรัสอนุญาตว่า ถ้าอย่าง
นั้น พวกท่านจงไปค้นหานางที่พระเชตวันนั้น จึงพาพวกอุปัฏฐากของ
ตนไปยังพระเชตวัน ทำทีเหมือนค้นหาคุ้ยกองหยากเยื่อแล้ว ยกร่างของ
นางขึ้นสู่เตียงให้เข้าไปยังพระนคร แล้วกราบทูลแด่พระราชาว่า พวก
สาวกของพระสมณโคดมคิดจักปกปิดกรรมชั่วที่ศาสดาตัวทำ จึงพากัน
ฆ่านางสุนทรี แล้วหมกไว้ระหว่างกองหยากเยื่อ. ฝ่ายพระราชาไม่ทันทรง
ใคร่ครวญจึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเที่ยวไปยังพระนคร. พวก
เดียรถีย์เหล่านั้น เที่ยวกล่าวในถนนทั่วพระนครมีอาทิว่า ท่านทั้งหลาย
จงดูความชั่วของพวกสมณศากยบุตรเถิด แล้วก็ได้ไปยังประตูพระราช-
นิเวศน์อีก. พระราชารับสั่งให้ยกร่างของนางสุนทรีขึ้นสู่แม่แคร่ แล้วให้
รักษาไว้ในสุสานผีดิบ. ชาวเมืองสาวัตถีโดยมาก เว้นพระอริยสาวกเสีย

กล่าวคำมีอาทิว่า พวกท่านจงดูความชั่วของสมณศากยบุตรเถิด ดังนี้แล้ว
เที่ยวด่าพวกภิกษุทั้งในเมืองและนอกเมือง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เมื่อใดพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า นางสุนทรที่มหาชนเห็น
กันมาก เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญึสุ แปลว่า รู้แล้ว. บทว่า โว
ทิฏฺฐา
แปลว่า เห็นโดยพิเศษ อธิบายว่า นางไป ๆ มา ๆ ยังพระ-
เชตวัน ที่เห็นกันโดยพิเศษ คือเห็นกันมาก. บทว่า ปริกฺขากูเป ได้-
แก่ คูยาว. บทว่า ยา สา มหาราช สุนฺทรี ความว่า มหาบพิตร นาง-
สุนทรีปริพาชิกาที่ปรากฏ คือปรากฏชัดว่าสุนทรี เพราะเธอมีรูปงามใน
เมืองนี้. บทว่า สา โน น ทิสฺสติ ความว่า นางเป็นที่รักเหมือนดวงตา
และชีวิตของข้าพระองค์ บัดนี้ไม่ปรากฏ. บทว่า ยถานิกฺขิตฺตํ ความว่า
ตามที่ตนสั่งบังคับพวกบุรุษให้เก็บไว้ในภายในกองหยากเยื่อ. บาลีว่า
ยถานิขาตํ ตามที่ฝั่งไว้ ดังนี้ก็มี อธิบายว่า มีประการที่ฝังไว้ในดิน.
บทว่า รถิยาย รถิยํ แปลว่า จากถนนนี้ไปยังถนนโน้น. ก็ตรอก
ที่ทะลุตลอด เรียกว่า รถิยํ. ตรอกสามแยก ชื่อว่า สิงฺฆาฏกํ. บทว่า
อลชฺชิโน แปลว่า ผู้ไม่ละอาย อธิบายว่า เว้นจากการรังเกียจบาป.
บทว่า ทุสฺสีลา แปลว่า ผู้ไม่มีศีล. บทว่า ปาปธมฺมา ได้แก่ มีสภาวะ
ลามก คือมีความประพฤติเลว. บทว่า มุสาวาทิโน ได้แก่ เป็นผู้ทุศีล
ชื่อว่าเป็นผู้พูดมุสา เพราะมักพูดแต่คำเหลาะแหละว่า เราเป็นผู้มีศีล.
บทว่า อพฺรหฺมจารโน ได้แก่ ชื่อว่าผู้ประพฤติไม่ประเสริฐ เพราะมักส้อง
เสพเมถุน. พวกเดียรถีย์กล่าวดูหมิ่นว่า พวกนี้แหละ. บทว่า ธมฺมจาริโน
ได้แก่ ผู้ประพฤติกุศลธรรม. บทว่า สมจาริโน ได้แก่ ประพฤติสม่ำ

เสมอในกายกรรมเป็นต้น. บทว่า กลฺยาณธมฺมา ได้แก่ ผู้มีสภาวะอัน
งดงาม. เชื่อมความว่า ชื่อว่าจักรู้เฉพาะ. ก็คำว่า ปฏิชานิสฺสนฺติ ใน
พระบาลีนี้เป็นคำบ่งถึงอนาคตกาล เพราะประกอบด้วยนามศัพท์. ความ
เป็นสมณะ ชื่อว่าสามัญญะ ได้แก่ความเป็นผู้สงบบาป. ความเป็นผู้มี
ธรรมอันประเสริฐ ชื่อว่าพรหมัญญะ ได้แก่ความเป็นผู้ลอยบาป. บทว่า
กุโต แปลว่า ด้วยเหตุอะไร. บทว่า อปคตา แปลว่า ไปปราศแล้ว คือ
พลัดตกแล้ว. ด้วยคำว่า ปุริสกิจฺจํ ท่านอาจารย์กล่าวหมายถึงการเสพเมถุน.
ลำดับนั้น พวกภิกษุกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระ-
ศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น แม้พวกเธอก็จงโต้ตอบ
มนุษย์เหล่านั้นด้วยคาถานี้ จึงตรัสคาถาว่า อภูตวาที เป็นต้น ซึ่งท่าน
หมายกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก ฯ ล ฯ มีกรรมอันเลว
เกิดเป็นมนุษย์ในภพหน้าเป็นต้น.
พระศาสดาทรงทราบความสำเร็จแห่งความเสื่อมยศนั้น ด้วยพระ-
สัพพัญญุตญาณ เมื่อจะทรงปลอบโยนภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสคำนี้ในพระ-
บาลีนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เสียงนี้ จักมีไม่นาน.
ในคาถา มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:- บทว่า อภูตวาที ได้แก่ ไม่เห็น
โทษของผู้อื่นเลย พูดมุสาวาท กล่าวต่อผู้อื่นด้วยคำอันไม่เป็นจริง คือ
ไม่แท้. บทว่า โย วาปิ กตฺวา ความว่า ก็หรือว่าผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว
พูดว่า เราไม่ได้ทำกรรมชั่วนี้. บทว่า เปจฺจ สมา ภวนฺติ ความว่า ชน
ทั้งสองพวกนั้น จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก เป็นผู้มีคติเสมอกันด้วยการเข้าถึง
นรก. จริงอยู่ คติของชนเหล่านั้นแหละยังกำหนดไว้ แต่อายุกำหนดไม่
ได้. เพราะว่าบุคคลทำกรรมชั่วไว้มาก ไหม้ในนรกสิ้นกาลนาน ทำ

กรรมชั่วไว้น้อย ก็ไหม้เพียงเวลาเล็กน้อยเท่านั้น. ก็เพราะชนทั้งสองมี
กรรมอันลามกนั้นแล ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ
เป็นต้น. ก็บทว่า ปรตฺถ นี้ เชื่อมกับบทว่า เปจฺจ ข้างหน้า อธิบายว่า
คนเป็นผู้มีกรรมอันลามกเหล่านั้น จะไปในโลกหน้า คือไปจากโลกนี้
เป็นผู้เสมอกันในโลกหน้า. บทว่า ปริยาปุณิตฺวา แปลว่า เรียนแล้ว.
บทว่า อการกา แปลว่า ผู้ไม่กระทำความผิด. บทว่า นยิเมหิ กตํ
ความว่า ได้ยินว่า พวกมนุษย์เหล่านั้น ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระ-
สมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่ได้ทำกรรมชั่ว ตามที่พวกอัญญเดียรถีย์เที่ยว
โฆษณาไปทั่วพระนครแน่แท้ เพราะอัญญเดียรถีย์พวกนี้ แม้กล่าวตู่ด้วย
ผรุสวาจาอันมิใช่ของสัตบุรุษอย่างนี้ ก็ไม่แสดงอาการอันแปลกอะไร ๆ
ทั้งไม่ละขันติและโสรัจจะ เป็นแตกล่าวสาปตามธรรมอย่างเดียวเท่านั้นว่า
ผู้กล่าวคำไม่เป็นจริงย่อมตกนรก สมณศากยบุตรเหล่านี้ กล่าวสาปพวก
เราผู้ไม่ใคร่ครวญแล้ว กล่าวตู่ พูดเหมือนให้การสาปแช่ง. อีกอย่างหนึ่ง
พูดสาปว่า แม้หรือว่าผู้ใดทำ แต่กล่าวว่าไม่ทำ อธิบายว่า สมณะเหล่านี้
กระทำสบถแก่พวกเราเพื่อให้รู้ว่าตนไม่ได้ทำ. ก็ความยินดี หยั่งลงด้วย
พุทธานุภาพในลำดับพร้อมด้วยการฟัง พระคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสแก่พวกมนุษย์เหล่านั้น. ความสังเวชเกิดขึ้นแล้วว่า เรื่องนี้พวกเรา
มิได้เห็นโดยประจักษ์ ธรรมดาเรื่องที่ได้ยินแล้ว ย่อมเป็นอย่างนั้นบ้าง
ย่อมเป็นอย่างอื่นบ้าง จริงอยู่ อัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ปรารถนาสิ่งที่ไม่
เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระสมณเหล่านี้ เพราะ-
ฉะนั้น พวกเราไม่พึงพูดเรื่องนี้โดยเชื่อพวกเขา เพราะว่าพระสมณะทั้ง-
หลายรู้ได้ยาก. จำเดิมแต่นั้น พวกมนุษย์ก็งดเว้นจากการโพนทะนานั้นเสีย.

ฝ่ายพระราชา จึงสั่งบังคับพวกราชบุรุษ เพื่อทราบถึงผู้ที่ฆ่านาง-
สุนทรี. ลำดับนั้นแล พวกนักเลงเหล่านั้น เอากหาปณะเหล่านั้นซื้อสุรา
ดื่ม ก่อการทะเลาะกันและกันขึ้น. ก็บรรดานักเลงเหล่านั้น คนหนึ่งพูด
กับคนหนึ่งว่า เองฆ่านางสุนทรีด้วยการตีทีเดียวตาย แล้วหมกไว้ระหว่าง
กองหยากเยื่อ เอากหาปณะที่ได้จากการรับจ้างนั้นซื้อสุราดื่ม เอาดื่มสิ
พวก. พวกราชบุรุษได้ยินดังนั้นแล้ว จึงจับพวกนักเลงเหล่านั้น มอบ
ถวายแด่พระราชา. พระราชาตรัสถามพวกนักเลงเหล่านั้นว่า พวกเจ้าฆ่า
นางสุนทรีหรือ. พวกนักเลงกราบทูลว่า พระเจ้าข้า พระอาญามิพ้นเกล้า
พวกข้าพระพุทธเจ้าฆ่าเอง. พระราชาตรัสถามว่า ใครจ้างให้พวกเองฆ่า
เขา. พวกนักเลงกราบทูลว่า พวกอัญญเดียรถีย์ พระเจ้าข้า. พระราชา
รับสั่งให้เรียกเดียรถีย์มาแล้ว จึงให้รับรู้เรื่องนั้นแล้วจึงทรงพระบัญชาว่า
พวกเจ้าจงเที่ยวพูดไปทั่วพระนครอย่างนี้ว่า พวกข้าพเจ้ามีความประสงค์
จะยกโทษพระสมณโคดม จึงได้ฆ่านางสุนทรีนี้ พระโคดมไม่มีโทษ
สาวกของพระโคดมก็ไม่มีโทษเลย พวกข้าพเจ้าเท่านั้นมีโทษ. อัญญ-
เดียรถีย์เหล่านั้น ได้ทำเหมือนอย่างนั้น. มหาชนเชื่อมั่นอย่างแน่นอน
แล้ว พากันติเตียนพวกเดียรถีย์. พวกเดียรถีย์ได้รับโทษทัณฑ์เพราะฆ่า
คน. จำเดิมแต่นั้นมา พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ได้มีสักการะและ
สัมมานะมากมายเกินประมาณ. พวกภิกษุเกิดความอัศจรรย์จิต จึงเข้าไป
เฝ้าพระภาคเจ้าแล้วประกาศความปลื้มใจของคนให้ทรงทราบ. ด้วย
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข สมฺพหุลา ภิกฺขู ฯ เป ฯ อนฺตรหิโต
ภนฺเต โส สทฺโท
ดังนี้เป็นต้น.
ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสบอกแก่พวกภิกษุว่า

นี้เป็นการกระทำของพวกเดียรถีย์ ? เพราะการบอกแก่พระอริยสาวกเสีย
ก่อน ไม่มีประโยชน์เลย. แต่ในหมู่ปุถุชนไม่ตรัสบอกด้วยทรงพระดำริว่า
กรรมของพวกที่ไม่เชื่อนั้น พึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอด
กาลนาน. อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่จะบอกเรื่องเช่นนี้ที่ยังไม่มาถึง อันพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลายไม่เคยทรงประพฤติมาเลย. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงประกาศฝักฝ่ายแห่งสังกิเลส เฉพาะที่ทรงแสดงมาโดยลำดับ. ก็ใครๆ
ไม่อาจจะให้โอกาสที่ตนทำกรรมแล้ว หวนกลับคืนมาได้ เพราะเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงประทับนั่งพิจารณาดูการกล่าวตู่ และเหตุแห่ง
กล่าวตู่นั้นเฉย ๆ. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
บุคคลจะอยู่ในอากาศ จะอยู่ในท่ามกลางมหา-
สมุทร จะเข้าไปสู่ซอกเขาก็ตามที ก็ไม่พึงพ้นจาก
กรรมชั่วไปได้ เพราะประเทศคือแผ่นดินที่เขาอยู่นั้น
บาปกรรมจะตามไม่ทัน ไม่มี.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง
ถึงเรื่องนี้ว่า แม้เมื่อว่าด้วยอำนาจการตัดเสียซึ่งความรัก คำพูดชั่วที่พาล-
ชนให้เป็นไปแล้ว ชื่อว่าเป็นการอดกลั้นได้ยากสำหรับธีรชนผู้ประกอบ
ด้วยพลังแห่งขันติย่อมไม่มี. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้
อันประกาศกำลังแห่งอธิวาสนขันติ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุทนฺติ วาจาย ชนา อสญฺญตา สเรหิ
สงฺคามคตํว กุญฺชรํ
ความว่า พวกพาลชน ชื่อว่าผู้ไม่สำรวม คือผู้ที่
แนะนำไม่ได้ เพราะไม่มีสังวรบางอย่าง มีสังวรทางกายเป็นต้น ย่อม
แทง คือทิ่มแทงด้วยหอกคือวาจา เหมือนทหารที่เป็นข้าศึกทิ่มแทงช้าง

กุญชร คือช้างเชือกประเสริฐ ตัวอยู่ในสงคราม คือในสนามรบด้วยลูก
ศร ที่ซึมซาบ (ด้วยยาพิษ). นี้เป็นสภาวะของพาลชนเหล่านั้น. บทว่า
สุตฺวาน วากฺยํ ผรุสํ อุทีริตํ อธิวาสเย ภิกฺขุ อทุฏฺฐจิตฺโต ความว่า ก็
ภิกษุสะสาง พากย์ คือคำหยาบนั้น ที่พาลชนเหล่านั้นเปล่ง คือกล่าว
ได้แก่ให้เป็นไปด้วยอำนาจกระทบกระทั่งความรัก อันไม่เป็นจริง โดย
ความเป็นจริง ระลึกถึงโอวาทที่เปรียบด้วยเลื่อยของเราตถาคต เป็นผู้มี
จิตไม่ประทุษร้ายแม้น้อยหนึ่ง เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในสงสารว่า นี้มีสงสาร
เป็นสภาวะ พึงอดกลั้น คือพึงตั้งอยู่ในอธิวาสนขันติอดทน.
ในข้อนี้ มีผู้ท้วงว่า ข้อที่พระศาสดามีบุญสมภารอันไพบูลย์ที่
พระองค์สั่งสมมา โดยเคารพตลอดกาลหาประมาณมิได้ ทรงได้รับการ
กล่าวตู่ที่ไม่เป็นจริงที่ร้ายแรงถึงอย่างนี้ นั่นเป็นกรรมอะไร ? ข้าพเจ้าจะ
เฉลยดังต่อไปนี้ :-
พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น เคยเป็นพระโพธิสัตว์ ในอดีตชาติเป็น
นักเลง ชื่อว่า มุนาลิ เที่ยวคบแต่คนชั่ว มากไปด้วยอโยนิโสมนสิการ.
วันหนึ่ง เขาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า สุรภี กำลังห่มจีวรเพื่อ
เข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร. ก็ในสมัยนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งเดินไปไม่ไกล
พระปัจเจกพุทธเจ้านัก. นักเลงกล่าวตู่ว่า สมณะนี้ ไม่ใช่เป็นพรหมจารี.
ด้วยกรรมนั้นเขาจึงไหม้ในนรกหลายแสนปี เพราะเศษแห่งวิบากกรรมนั้น
นั่นแล แม้ได้เป็นพระพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ยังถูกกล่าวตู่ เพราะเหตุแห่ง
นางสุนทรี. ก็ข้อนี้ฉันใด ทุกข์มีการกล่าวตู่เป็นต้น ที่หญิงผู้กระทำอาการ
อันแปลกมีนางจิญจมาณวิกาเป็นต้น ให้เป็นไปแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทั้งหมดนั้น เป็นเศษวิบากแห่งกรรมที่พระองค์ทรงกระทำไว้ในปางก่อน

ซึ่งเรียกว่า กรรมปิโลติกะ. สมดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ในอปทานว่า1< /SUP>
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประทับนั่งอยู่ที่พื้นศิลา อันน่า
รื่นรมย์ รุ่งโรจน์ด้วยรัตนะต่าง ๆ ในละแวดป่า อัน
ตลบด้วยกลิ่นหอมนานาชนิด ใกล้สระอโนดาต ทรง
พยากรณ์บุรพกรรมของพระองค์ในที่นั้นว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงฟังกรรมที่เราทำแล้ว
เราเห็นภิกษุผู้มีปกติอยู่ป่ารูปหนึ่ง ได้ถวายผ้าเก่า เรา
ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นครั้งแรก เพื่อความ
เป็นพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น ผลแห่งกรรมคือการ
ถวายผ้าเก่า อำนวยผลให้เป็นพระพุทธเจ้า ในกาล
ก่อนเราเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โค
กำลังดื่มน้ำขุ่น จึงห้ามมัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น
ในภพหลังสุดนี้ เรากระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตาม
ความปรารถนา ในชาติหนึ่งในกาลก่อน เราเป็น
นักเลงชื่อมุนาลิ2 ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้า นาม
ว่า สุรภี ผู้ไม่ประทุษร้าย ด้วยวิบากกรรมนั้น เรา
จึงเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุกขเวทนา
หลายพันปี ด้วยเศษกรรมนั้นในภพหลังสุดนี้ เราจึง
ได้รับคำกล่าวตู่ เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ เพราะ
1. ขุ. อป. 32/471 2. บาลี เป็น ปุนาลิ

การกล่าวตู่พระเถระนามว่า นันทะ สาวกของพระ-
พุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงท่องเที่ยว
อยู่ในนรกเป็นเวลานาน เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกนาน
ถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับการกล่าวตู่
มากมาย ด้วยเศษกรรมนั้น นางจิญจมาณวิกา มา
กับหมู่คนกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง เมื่อก่อนเรา
เป็นพราหมณ์ชื่อว่า สุตวา มหาชนพากันสักการะ
บูชา สอนมนต์ให้กับมาณพ 500 คน ในป่าใหญ่ ก็
เราได้เห็นฤาษีผู้น่ากลัว ได้อภิญญา 5 มีฤทธิ์มาก
มาในสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่ฤาษีผู้ไม่ประทุษร้าย
โดยบอกกับพวกศิษย์ของเราว่า ฤาษีนี้ บริโภคกาม
ครั้นเราบอก พวกมาณพก็เห็นด้วย ลำดับนั้น มาณพ
ทั้งหมด เที่ยวภิกษาไปตามตระกูล พากันบอกแก่
มหาชนว่า ฤาษีนี้ บริโภคกาม ด้วยวิบากกรรมนั้น
ภิกษุ 500 รูปเหล่านี้ ได้รับคำกล่าวตู่ทั้งหมด เพราะ
นางสุนทรีเป็นเหตุ ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่-น้อง
ชายต่างมารดากัน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับโยนลง
ในซอกเขาแล้วเอาหินทับถม ด้วยวิบากกรรมนั้น
พระเทวทัตจึงกลิ้งหิน สะเก็ดหินจึงกลิ้งมากระทบ
นิ้วหัวแม่เท้าเรา ในกาลก่อน เราเป็นเด็ก เล่นอยู่ที่
หนทางใหญ่เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วจุดไฟเผา
ดักไว้ทั่วหนทาง ด้วยวิบากกรรมนั้น ในภพหลังสุด

นี้ พระเทวทัต จึงชักชวนนายขมังธนูผู้ฆ่าคน เพื่อ
ให้ฆ่าเรา ในกาลก่อน เราเป็นนายควาญช้าง ได้ไส
ช้างให้จับพระปัจเจกมุนีผู้สูงสุด ทั้งที่กำลังเที่ยว
บิณฑบาตอยู่ ด้วยวิบากกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีเชือก
ซับมันดุร้าย วิ่งแล่นเข้าไปในซอกเขาเบื้องหน้าผู้
ประเสริฐ ในกาลก่อน เราเป็นพระราชาชาตินักรบ ฆ่า
บุรุษเป็นอันมากด้วยหอก เพราะวิบากกรรมนั้น เรา
ถูกไฟไหม้อย่างเหลือทนในนรก ด้วยเศษกรรมนั้น
บัดนี้ ไฟนั้นไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทั้งสิ้น เพราะว่า
กรรมยังไม่หมดไป ในกาลก่อน เราเป็นเด็กชาว
ประมงอยู่ในเกวัฏคาม เห็นคนฆ่าปลาแล้วเกิดความ
ดีใจ ด้วยวิบากกรรมนั้น เราจึงปวดศีรษะ เมื่อครั้งพวก
เจ้าศากยะลูกเบียดเบียนเพราะถูกเจ้าวิฑูฑภะฆ่า เรา
ได้บริภาษพระสาวกทั้งหลายในพระธรรมวินัย ของ
พระพุทธเจ้านามว่าปุสสะว่า ท่านจงเคี้ยว จงกินแต่
ข้าวแดง อย่ากินข้าวสาลีเลย ด้วยวิบากกรรมนั้น
เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้ว อยู่ในเมืองเวรัญชา ใน
คราวนั้นบริโภคข้าวแดง ตลอดสามเดือน เมื่อนัก
มวยกำลังชกกัน เราได้เบียดเบียนบุตรนักมวยปล้ำ
ด้วยวิบากกรรมนั้น เราจึงปวดหลัง เมื่อก่อนเราเป็น
หมอรักษาโรค ได้ให้เศรษฐีบุตรถ่ายยา ด้วยวิบาก
กรรมนั้น เราจึงเป็นโรคปักขันทิกาพาธ โรคลงแดง

เราชื่อว่าโชติปาละได้กล่าวกะพระสุคตเจ้า พระนาม
ว่ากัสสปะในคราวนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน
โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง ด้วยวิบากกรรมนั้น เรา
ได้กระทำกรรมที่ทำได้ยากเป็นอันมาก ที่ตำบลอุรุ-
เวลาเสนานิคม 6 พรรษา แต่นั้นจึงได้บรรลุพระ-
โพธิญาณ แต่เราก็มิได้บรรลุพระโพธิญาณด้วยทางนี้
เราอันบุรพกรรมตักเตือนแล้ว จึงแสวงหาโดยทางผิด
บัดนี้ เราเป็นผู้สิ้นบุญสินบาปแล้ว เว้นจากความเร่า-
ร้อนทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความคับแค้น
ดับสนิทหาอาสวะมิได้ พระชินเจ้าทรงบรรลุพลัง
แห่งอภิญญาทั้งปวง ทรงพยากรณ์โดยหวังประโยชน์
แก่ภิกษุสงฆ์ ที่สระใหญ่ ชื่อ อโนดาต ด้วยประการ
ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสุนทรีสูตรที่ 8

9. อุปเสนวังคันตปุตตสูตร



ว่าด้วยชีวิตไม่เดือดร้อน



[108] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระ-
อุปเสนวังคันตบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้น