เมนู

เทพมีท้าวสักกะเป็นต้น ย่อมกระหยิ่ม คือย่อมปรารถนา พระขีณาสพนั้น
ชื่อว่าผู้เข้าไปสงบ ด้วยปฏิปัสสัทธิ เพราะสงบความกระวนกระวาย และ
ความเร่าร้อนอันเกิดแต่กิเลสทั้งปวง โดยบรรลุอรหัตผล ชื่อว่าผู้มีสติ
เพราะเป็นผู้มีสติกระทำตลอดกาลเป็นนิจ ด้วยถึงความไพบูลย์ด้วยสติ
ต่อแต่นั้น ถึงลักษณะความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น
คือยังความนับถืออย่างมากให้เกิด จึงเกิดความเอื้อเฟื้อในคุณวิเศษของท่าน
มีศีลเป็นต้น จะพูดถึงมนุษย์ทำไมเล่าแล.
จบอรรถกถามหากัสสปสูตรที่ 7

8. ปิณฑปาตสูตร



ว่าด้วยภิกษุสนทนาเรื่องบิณฑบาต



[82] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล
ภิกษุมากด้วยกัน กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตนั่งประชุมกันในโรง
กลมใกล้ต้นกุ่ม สนทนากันถึงเรื่องเป็นไปในระหว่างนี้ว่า ดูก่อนท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตอยู่
ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจด้วยจักษุ ย่อมได้ฟังเสียงอันเป็นที่พอใจด้วย
หู ย่อมได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วยจมูก ย่อมได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจ
ด้วยลิ้น ย่อมได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่พอใจด้วยกาย ตามกาลอัน
สมควร ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ย่อมเที่ยวไป
บิณฑบาต ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจงถือการ
เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้เราทั้งหลายก็จักได้เห็นรูปอันเป็นที่พอใจ
ด้วยจักษุ ได้ฟังเสียงอันเป็นที่พอใจด้วยหู ได้ดมกลิ่นอันเป็นที่พอใจด้วย
จมูก ได้ลิ้มรสอันเป็นที่พอใจด้วยลิ้น ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอันเป็นที่
พอใจด้วยกาย ตามกาลอันสมควร แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นผู้อันมหาชน
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต ภิกษุ
เหล่านั้นสนทนากถาค้างอยู่ในระหว่างเพียงนี้ ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้วได้เสด็จเข้าไปถึงโรงกลมใกล้
ต้นกุ่มแล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย
ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วย
เรื่องอะไรหนอ และเธอทั้งหลายสนทนาเรื่องอะไรค้างไว้ในระหว่าง ภิกษุ
เหล่านั้นกราบทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับ
จากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต นั่งประชุมกันในโรงกลมใกล้ต้นกุ่มนี้
เกิดสนทนากันในระหว่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการ
เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ ย่อมได้เห็นรูปอันเป็นที่
พอใจด้วยจักษุ... แม้เราทั้งหลายก็จักเป็นอันมหาชนสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา ยำเกรง เที่ยวไปบิณฑบาต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า-
พระองค์ทั้งหลายสนทนาเรื่องค้างไว้ในระหว่างนี้แล ก็พอดีพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าเสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การ
ที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พึงกล่าว

เรื่องเห็นปานนี้นั้นไม่สมควรเลย เธอทั้งหลายประชุมกันแล้วพึงกระทำ
อาการ 2 อย่าง คือ ธัมมีกถา หรือดุษณีภาพเป็นอริยะ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึง
ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่ผู้เลี้ยงคนอื่น ผู้คงที่.

จบปิณฑปาตสูตรที่ 8

อรรถกถาปิณฑปาตสูตร



ปิณฑปาตสูตรที่ 8 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ความว่า แม้เวลาภายในเที่ยงวันของภิกษุถือ
เอกาสนิกังคธุดงค์และขลุปัจฉาภัตตกังคธุดงค์ ผู้ฉันอาหารเช้าแล้ว ก็เป็น
ปัจฉาภัตเหมือนกัน. แต่ในที่นี้ ภายหลังแต่ฉันอาหารตามปกตินั่นแหละ
พึงทราบว่า เป็นปัจฉาภัต. บทว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺตานํ ความว่า
ผู้กลับจากบิณฑบาต คือแสวงหาบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาตนั้น
โดยทำภัตกิจให้สำเร็จ. บทว่า กเรริ ในบทว่า กเรริมณฺฑลมาเฬ เป็น
ชื่อของไม้กุ่ม. เล่ากันว่า ไม้กุ่มนั้น อยู่ภายในระหว่างมณฑปกับศาลา
พระคันธกุฎี ด้วยเหตุนั้น แม้พระคันธกุฎี ท่านเรียกว่า กเรริกุฏิกา.
มณฑปก็ดี ศาลาก็ดี ท่านเรียกว่า กเรริมัณฑลมาฬ โรงกลมใกล้ต้นไม้
กุ่ม. เพราะเหตุไร ในโรงกลมกล่าวคือศาลาที่นั่ง ซึ่งสร้างไว้ไม่ไกลต้น