เมนู

นันทวรรคที่ 3



1. กรรมสูตร



ว่าด้วยการละกรรมทั้งหมด



[66] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุ
รูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า อดกลั้น
ทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ
ไม่พรั่นพรึงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น นั่งคู้
บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกล อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่ง
เกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ ไม่พรั่นพรึงอยู่.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึง
ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ภิกษุละกรรมทั้งหมดได้แล้ว กำจัดกรรมเป็นดัง
ธุลีที่ตนทำไว้แล้วในก่อน ไม่มีการยึดถือว่าของเรา
ดำรงมั่นคงที่ ประโยชน์ที่จะกล่าวกะชน (ว่าท่านจง
ทำยาเพื่อเรา) ย่อมไม่มี.

จบกรรมสูตรที่ 1

นันทวรรควรรณนาที่ 3



อรรถกถากรรมสูตร



นันทวรรค

กรรมสูตรที่ 1 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อญฺญตโร ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งไม่
ปรากฏนามและโคตร.
ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวกรุงราชคฤห์ อันพระมหาโมค-
คัลลานะให้สังเวชแล้ว เห็นโทษในสงสาร จึงบรรพชาในสำนักพระ-
ศาสดา ชำระศีลให้หมดจด ยึดเอากรรมฐานอันสัมปยุตด้วยสัจจะ 4
ไม่นานนัก ได้บำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต. ภายหลังท่านได้เกิด
อาพาธอย่างแรงกล้า. ท่านยับยั้งด้วยการพิจารณาอยู่ จริงอยู่ ธรรมดา
ว่าพระขีณาสพไม่มีทุกข์ทางใจ แต่ทุกข์ทางกายยังมีอยู่เหมือนกัน. วัน-
หนึ่ง เมื่อพระศาสดากำลังแสดงธรรม ท่านอดกลั้นทุกข์นั่งสมาธิอยู่ในที่ไม่
ไกล. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ภควโต อวิทูเร นิสินฺโน
โหติ
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ แปลว่า นั่งพับขาโดยรอบ.
บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า พับ. บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย ความว่า
ท่านตั้งกายเบื้องบนให้ตรง แล้วให้กระดูกสันหลัง 18 ข้อจดถึงกัน. ก็
เมื่อท่านนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็นจะไม่ตึง เพราะฉะนั้น ท่านจึง
ได้นั่งอย่างนั้น. บทว่า ปุราณกมฺมวิปากชํ แปลว่า เกิดโดยเป็นวิบากแห่ง
กรรมที่ทำไว้ก่อน. อีกอย่างหนึ่ง เกิดโดยความเป็นส่วนหนึ่งแห่งกรรม
นั้น ในเมื่อวิบากของกรรมเก่า ซึ่งมีอาการเป็นสุขและทุกข์ เกิดเป็น
วิปากวัฏ. ข้อนั้นคืออะไร ? คือทุกข์. ก็ด้วยคำว่า ปุราณกมฺมวิปากชํ นี้