เมนู

7. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง [200]



ข้อความเบื้องต้น



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์
คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เตน ภิกฺขุ โส โหติ"
เป็นต้น.

พราหมณ์อยากให้พระศาสดาเรียกตนว่าภิกษุ


ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นบวชในลัทธิภายนอกเที่ยวภิกษาอยู่ คิดว่า
"พระสมณโคดมเรียกสาวกของตนผู้เที่ยวภิกษาว่า ภิกษุ,' การที่พระ-
สมณโคดมเรียกแม้เราว่า ' ภิกษุ ' ก็ควร." เขาเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า
" ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้ข้าพเจ้าก็เที่ยวภิกษาเลี้ยงชีพอยู่, พระองค์
จงเรียกแม้ข้าพเจ้าว่า 'ภิกษุ."

ลักษณะภิกษุและผู้มิใช่ภิกษุ


ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพราหมณ์นั้นว่า "พราหมณ์ เราหา
เรียกว่า ' ภิกษุ ' เพราะอาการเพียงขอ (เขาไม่), เพราะผู้สมาทานธรรม
อันเป็นพิษแล้วประพฤติอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าภิกษุหามิได้, ส่วนผู้ใดเที่ยว
ไปด้วยพิจารณาสังขารทั้งปวง, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ" ดังนี้แล้ว ได้ตรัส
พระคาถาเหล่านี้ว่า :-
7. น เตน ภิกฺขุ โส โหติ ยาวตา ภิกฺขเต ปเร
วิสฺสํ ธมฺมํ สมาทาย ภิกฺขุ โหติ น ตาวตา.
โยธ ปุญฺญญฺจ ปาปญฺจ พาเหตฺวา พฺรหฺมจริยวา
สงฺขาย โลเก จรติ ส เว ภิกฺขูติ วุจฺจติ.

"บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเหตุที่ขอกะคนพวก
อื่นหามิได้, บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่า
เป็นภิกษุ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น; ผู้ใดในศาสนานี้
ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ (รู้ธรรม)
ในโลก ด้วยการพิจารณาเที่ยวไป ผู้นั้นแลเราเรียก
ว่า 'ภิกษุ.'

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา ความว่า ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะ
เหตุสักว่าขอกะชนพวกอื่นหามิได้. บทว่า วิสํ1 เป็นต้น ความว่า ผู้ที่
สมาทานธรรมไม่เสมอ หรือธรรมมีกายกรรมเป็นต้น อันมีกลิ่นเป็นพิษ
ประพฤติอยู่ หาชื่อว่าเป็นภิกษุไม่. บทว่า โยธ เป็นต้น ความว่า ผู้ใด
ในศาสนานี้ ลอยคือบรรเทาบุญและบาปแม้ทั้งสองนี้ด้วยมรรคพรหมจรรย์
ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์. บทว่า สงฺขาย คือ ด้วยญาณ. บทว่า
โลเก เป็นต้น ความว่า บุคคลรู้ธรรมแม้ทั้งหมดในโลก มีขันธโลก
เป็นต้น อย่างนี้ว่า "ขันธ์เหล่านี้เป็นภายใน, ขันธ์เหล่านี้เป็นภายนอก"
เที่ยวไป, ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ' ภิกษุ ' เพราะเป็นผู้ทำลาย
กิเลสทั้งหลายด้วยญาณนั้นแล้ว.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง จบ.
1. บาลีเป็น วิสฺสํ.