เมนู

6. เรื่องภิกษุชื่อหัตถกะ [199]



ข้อความเบื้องต้น



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุชื่อ
หัตถกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น มุณฺฑเกน สมโณ " เป็นต้น.

พระหัตถกะพูดอวดดี


ได้ยินว่า ภิกษุนั้นพูดฟุ้งไป กล่าวว่า " ท่านทั้งหลายพึงไปสู่ที่
ชื่อโน้น ในกาลโน้น, เราจักทำวาทะ" แล้วไปในที่นั้นก่อน กล่าวคำ
ทั้งหลายเป็นต้นว่า " ดูเถิดท่านทั้งหลาย, พวกเดียรถีย์ไม่มาเพราะกลัวผม,
นี่แหละเป็นความแพ้ของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น" เที่ยวพูดฟุ้งไป กลบ-
เกลื่อนคำอื่นด้วยคำอื่น.

ลักษณะสมณะและผู้มิใช่สมณะ


พระศาสดาทรงสดับว่า "ได้ยินว่า ภิกษุชื่อหัตถกะทำอย่างนั้น"
แล้วรับสั่งให้เรียกเธอมา ตรัสถามว่า " หัตถกะ ได้ยินว่าเธอทำอย่างนั้น
จริงหรือ ?" เมื่อเธอกราบทูลว่า " จริง," จึงตรัสว่า "เหตุไฉน เธอจึง
ทำอย่างนั้น ? ด้วยว่าผู้ทำมุสาวาทเห็นปานนั้น จะชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะ
เหตุสักว่ามีศีรษะโล้นเป็นต้นเท่านั้นหามิได้; ส่วนผู้ใด ยังบาปน้อยหรือ
ใหญ่ให้สงบแล้วตั้งอยู่ ผู้นี้แหละชื่อว่าสมณะ" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระ-
คาถาเหล่านี้ว่า:-
6. น มุณฺฑเกน สมโณ อพฺพโต อลิกํ ภณํ
อิจฺฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ.

โย จ สเมติ ปาปานิ อณุํถูลานิ สพฺพโส
สมิตตฺตา หิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจติ.

"ผู้ไม่มีวัตร พูดเหลาะแหละ ไม่ชื่อว่าสมณะ
เพราะศีรษะโล้น, ผู้ประกอบด้วยความอยากและ
ความโลภ จะเป็นสมณะอย่างไรได้; ส่วนผู้ใด ยัง
บาปน้อยหรือใหญ่ให้สงบโดยประการทั้งปวง, ผู้นั้น
เรากล่าวว่า 'เป็นสมณะ' เพราะยังบาปให้สงบ
แล้ว."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุณฺฑเกน ความว่า เพราะเหตุสักว่า
ศีรษะโล้น. บทว่า อพฺพโต คือเว้นจากศีลวัตรและธุดงควัตร. สองบทว่า
อลิกํ ภณํ ความว่า ผู้กล่าวมุสาวาท ประกอบด้วยความอยากในอารมณ์
อัน ยังไม่ถึง และด้วยความโลภในอารมณ์อัน ถึงแล้ว จักชื่อว่าเป็นสมณะ
อย่างไรได้. บทว่า สเมติ ความว่า ส่วนผู้ใดยังบาปน้อยหรือใหญ่ให้
สงบ, ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ' เป็นสมณะ' เพราะยังบาป
เหล่านั้นให้สงบแล้ว.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุชื่อหัตถกะ จบ.