เมนู

20. เรื่องพระเขมาภิกษุณี [283]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเขมา
ภิกษุณี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " คมฺภีรปญฺญํ " เป็นต้น.

พระเขมาภิกษุณีพบท้าวสักกะ


ความพิสดารว่า ในวันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชเสด็จมากับเทวบริษัท
ในระหว่างแห่งปฐมยาม ประทับนั่งสดับธรรมกถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความ
ระลึกถึงอยู่ ในสำนักพระศาสดา.
ในขณะนั้น พระเขมาภิกษุณีมาด้วยดำริว่า " จักเฝ้าพระศาสดา "
เห็นท้าวสักกะแล้ว ยืนอยู่ในอากาศนั่นเอง ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว
ก็กลับไป.
ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเขมานั้นแล้ว ทูลถามว่า " พระ-
เจ้าข้า ภิกษุณีนั่นชื่ออะไร ? มายืนอยู่ในอากาศนั้นเอง ถวายบังคมแล้ว
กลับไป."

ลักษณะแห่งพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา


พระศาสดาตรัสว่า " มหาบพิตร ภิกษุณีนั่น เป็นธิดาของตถาคต
ชื่อเขมา เป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดในทางและมิใช่ทาง" ดังนี้แล้ว ตรัส
พระคาถานี้ว่า :-
20. คมฺภีรปญฺญ เมธาวึ มคฺคามคฺคสฺส โกวิทํ
อุตฺตมตฺถํ อนุปฺปตฺตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

" เราเรียกผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์ ฉลาด
ในทางและมิใช่ทาง บรรลุประโยชน์สูงสุด นั้นว่า
เป็นพราหมณ์.

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คมฺภีรปญฺญํ เป็นต้น ความว่า เรา
เรียกบุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นไปในธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้น
อันลึกซึ้ง ผู้เป็นปราชญ์ ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ผู้ชื่อว่า
ฉลาด ในทางและมิใช่ทาง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
อย่างนี้ คือ นี้เป็นทางแห่งทุคติ, นี้เป็นทางแห่งสุคติ, นี้เป็นทางแห่ง
พระนิพพาน, นี้มิใช่ทาง, ผู้บรรลุประโยชน์อันสูงสุด กล่าวคือพระ-
อรหัตนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระเขมาภิกษุณี จบ.