เมนู

6. เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง [269]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิต
รูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " พาหิตปาโป " เป็นต้น.

พราหมณ์บวชนอกพระพุทธศาสนา


ได้ยินว่า พราหมณ์คนหนึ่งบวชแล้ว ด้วยการบวชในภายนอก
(พระศาสนา) คิดว่า " พระสมณโคดม เรียกสาวกของพระองค์ ' บรรพชิต '
ส่วนเราก็เป็นบรรพชิต, การพระองค์เรียกเราอย่างนั้นบ้าง ก็ควร " แล้ว
เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเนื้อความนั่น.
พระศาสดาตรัสว่า " เราหาเรียกว่า ' บรรพชิต ' ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
ไม่, ส่วนบุคคลผู้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต เพราะความที่มลทินคือกิเลสทั้งหลาย
อันตนเว้นได้ขาด " ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-
6. พาหิตปาโป หิ พฺราหฺมโณ
สมจริยา สมโณติ วุจฺจติ
ปพฺพาชยมตฺตโน มลํ
ตสฺมา ปพฺพชิโตติ วุจฺจติ.
" บุคคลผู้มีบาปอันลอยแล้วแล เราเรียกว่า
'พราหมณ์,' บุคคลที่เราเรียกว่า ' สมณะ' เพราะ
ความประพฤติเรียบร้อย, บุคคลขับไล่มลทินของตน
อยู่ เพราะเหตุนั้น เราเรียกว่า ' บรรพชิต."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมจริยาย คือ เพราะความประพฤติ
ระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง.
บทว่า ตสฺมา ความว่า บุคคลที่พระศาสดาตรัสเรียกว่า ' พราหมณ์ '
เพราะความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว, บุคคลที่พระศาสดาตรัสเรียกว่า
' สมณะ ' เพราะความประพฤติสงบซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย; เหตุนั้น ผู้ใด
ประพฤติขับไล่ คือขจัดมลทินมีราคะเป็นต้นของตนอยู่, แม้ผู้นั้น พระ-
ศาสดาก็ตรัสเรียกว่า ' บรรพชิต ' เพราะการขับไล่นั้น.
ในกาลจบเทศนา บรรพชิตนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว, เทศนา
ได้มีประโยชน์แม้แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง จบ.