เมนู

คาถาธรรมบท



พราหมณวรรค1ที่ 26



ว่าด้วยคุณธรรมของผู้เป็นพราหมณ์


[36] 1. พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา
จงบรรเทากามทั้งหลายเสีย ท่านรู้ความสิ้นไปแห่ง
สังขารทั้งหลายแล้ว เป็นผู้รู้พระนิพพาน อันอะไร ๆ
กระทำไม่ได้แล้วนะ พราหมณ์.
2. ในกาลใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรม
ทั้งสอง ในกาลนั้น กิเลสเครื่องประกอบทั้งปวงของ
พราหมณ์ผู้รู้อยู่ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.
3. ฝั่งก็ดี ที่มิใช่ฝั่งก็ดี ฝั่งและที่มิใช่ฝั่งก็ดี
ไม่มีแก่ผู้ใด เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีความกระวนกระวาย
ไปปราศแล้ว ผู้พราก (จากกิเลส) ได้แล้วว่า เป็น
พราหมณ์.
4. เราเรียกบุคคลผู้มีความเพ่ง ผู้ปราศจากธุลี
อยู่แต่ผู้เดียว มีกิจอันกระทำแล้ว หาอาสวะมิได้
บรรลุประโยชน์อันสูงสุดแล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
5. พระอาทิตย์ ย่อมส่องแสงในกลางวัน
พระจันทร์ย่อมรุ่งเรื่องในกลางคืน กษัตริย์ทรงเครื่อง
รบแล้ว ย่อมรุ่งเรือง พราหมณ์ผู้มีความเพ่ง ย่อม

1. วรรคนี้ มีอรรถกถา 39 เรื่อง.

รุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมรุ่งเรืองด้วยเดช
ตลอดกลางวันและกลางคืน.
6. บุคคลมีบาปอันลอยแล้วแล เราเรียกว่า
พราหมณ์ บุคคลที่เราเรียกว่า สมณะ เพราะความ
ประพฤติเรียบร้อย บุคคลขับไล่มลทินของตนอยู่
เพราะเหตุนั้น เราเรียกว่า บรรพชิต.
7. พราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์ ไม่
ควรจอง (เวร) แก่เขา น่าติเตียนพราหมณ์ผู้ประหาร
พราหมณ์ น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จอง (เวร) ยิ่งกว่า
พราหมณ์ผู้ประหารนั้น. ความเกียจกันใจจากอารมณ์
อันเป็นที่รักทั้งหลายใด ความเกียดกันนั่นย่อมเป็น
ความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์ ใจอันสัมปยุต
ด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับได้จากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ย่อมสงบได้เพราะวัตถุนั้น ๆ นั่นแล.
8. ความชั่วทางกาย วาจา และใจของบุคคลใด
ไม่มี เราเรียกบุคคลนั้น ผู้สำรวมแล้วโดยฐานะ 3 ว่า
เป็นพราหมณ์.
9. บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธ-
เจ้าทรงแสดงแล้วจากอาจารย์ใด พึงนอบน้อมอาจารย์
นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นอบน้อมการบูชา
เพลิงอยู่ฉะนั้น.
10. บุคคลย่อมเป็นพราหมณ์ ด้วยชฎา ด้วย

โคตร ด้วยชาติหามิได้ สัจจะและธรรมมีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์.
11. ผู้มีปัญญาทราม ประโยชน์อะไรด้วยชฎา
ทั้งหลายของเธอ ประโยชน์อะไรด้วยผ้าที่ทำด้วย
หนังสัตว์ของเธอ ภายในของเธอรกรุงรัง เธอย่อม
เกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก.
12. เราเรียกชนผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผู้ผอม สะพรั่ง
ด้วยเอ็น ผู้เพ่งอยู่ผู้เดียวในป่านั้นว่า เป็นพราหมณ์.
13. เราไม่เรียกบุคคลผู้เกิดแต่กำเนิด ผู้มี
มารดาเป็นแดนเกิดว่าเป็นพราหมณ์ เขาย่อมเป็นผู้
ชื่อว่าโภวาที เขาย่อมเป็นผู้มีกิเลสเครื่องกังวล เรา
เรียกผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ไม่ถือมั่นนั้นว่า เป็น
พราหมณ์.

14. ผู้ใดแล ตัดสังโยชน์ทั้งปวงได้แล้ว ย่อม
ไม่สะดุ้ง เราเรียกผู้นั้น ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องได้
ผู้หลุดพ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์.
15. เราเรียกบุคคลผู้ตัดชะเนาะ เชือก และ
เครื่องต่อพร้อมทั้งสาย ผู้มีลิ่มสลักอันถอนขึ้นแล้ว
ผู้รู้แล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
16. ผู้ใด ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นซึ่งคำด่าและ
การตีและการจองจำได้ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีกำลังคือ
ขันติ มีหมู่พลว่า เป็นพราหมณ์.

17. เราเรียกผู้ไม่โกรธ มีวัตร มีศีล ไม่มีตัณหา
เครื่องฟูขึ้น ผู้ฝึกแล้ว มีสรีระในที่สุดนั้นว่า เป็น
พราหมณ์.

18. ผู้ใด ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เหมือนน้ำ
ไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ตั้ง
อยู่บนปลายเหล็กแหลมฉะนั้น เราเรียกผู้นั้นว่า เป็น
พราหมณ์.

19. ผู้ใด ในศาสนานี้แล รู้ชัดความสิ้นไปแห่ง
ทุกข์ของตน เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีภาระอันปลงแล้ว
ผู้พรากได้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
20. เราเรียกผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง บรรลุประโยชน์สูงสุดนั้น
ว่า เป็นพราหมณ์.
21. เราเรียกบุคคลผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยชนสอง
จำพวก คือ คฤหัสถ์ 1 บรรพชิต 1 ผู้ไม่มีอาลัย
เที่ยวไป ผู้ปรารถนาน้อยนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
22. ผู้ใด วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย ผู้สะดุ้ง
และผู้มั่นคง ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า เราเรียกผู้
นั้นว่า เป็นพราหมณ์.
23. เราย่อมเรียกบุคคลผู้ไม่เคียดแค้น ใน
บุคคลผู้เคียดแค้น ผู้ดับเสียได้ในบุคคลผู้มีอาชญาใน
ตน ผู้ไม่ถือมั่นในบุคคลผู้ถือมั่นนั้นว่า เป็นพราหมณ์.

24. ราคะ โทสะ มานะและมักขะ อันผู้ใด
ให้ตกไปแล้ว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจาก
ปลายเหล็กแหลมฉะนั้น เราเรียกผู้นั้นว่า เป็น
พราหมณ์.

25. ผู้ใด พึงกล่าวถ้อยคำอันไม่ระคายหู อัน
ให้รู้กันได้เป็นคำจริง อันเป็นเหตุไม่ยังใคร ๆ ให้
ขัดใจ เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.
26. ผู้ใด ไม่ถือเอาของยาวหรือสั้น น้อยหรือ
ใหญ่ งามหรือไม่งาม อันเขาไม่ให้แล้วในโลกนี้
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.
27. ความหลังของผู้ใด ไม่มีในโลกนี้และโลก
หน้า เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความหลัง พราก (กิเลส)
ได้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
28. ความอาลัยของบุคคลใดไม่มี บุคคลใดรู้
ชัดแล้ว เป็นผู้ไม่มีความสงสัยเป็นเหตุกล่าวว่า
อย่างไร เราเรียกบุคคลนั้น ผู้หยั่งลงสู่อมตะ ตาม
บรรลุแล้วว่า เป็นพราหมณ์.
29. ผู้ใด ล่วงบุญและบาปทั้งสอง และกิเลส
เครื่องข้องเสียได้ในโลกนี้ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มี
ความโศก มีธุลีไปปราศแล้ว ผู้บริสุทธิ์แล้วว่า เป็น
พราหมณ์.

30. เราเรียกผู้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว มีภพ

เครื่องเพลิดเพลินสิ้นแล้ว เหมือนพระจันทร์ที่
ปราศจากมลทินนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
31. ผู้ใด ล่วงทางอ้อม หล่ม สงสาร และ
โมหะนี้ไปแล้วเป็นผู้ข้ามไปได้ ถึงฝั่ง มีปกติเพ่ง หา
กิเลสเครื่องหวั่นไหวมิได้ ไม่มีความสงสัยเป็นเหตุ
กล่าวว่าอย่างไร ไม่ถือมั่น ดับแล้ว เราเรียกผู้นั้นว่า
เป็นพราหมณ์.
32. บุคคลใด ละกามทั้งหลายในโลกนี้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้นเสียได้ เราเรียกบุคคลนั้นผู้
มีกามและภพสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์.
33. ผู้ใด ละตัณหาในโลกนี้ได้แล้ว เป็นผู้ไม่มี
เรือน เว้นเสียได้ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีตัณหาและภพ
อันสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์.
34. ผู้ใด ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของ
มนุษย์ ล่วงกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของทิพย์ได้
แล้ว เราเรียกผู้นั้น ซึ่งพรากกิเลสเครื่องประกอบ
ทั้งปวงได้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
35. เราเรียกบุคคลนั้น ซึ่งละความยินดีและ
ความไม่ยินดีได้แล้ว ผู้เย็น ไม่มีอุปธิ ครอบงำโลก
ทั้งปวง ผู้แกล้วกล้าว่า เป็นพราหมณ์.
36. ผู้ใด รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดย
ประการทั้งปวง เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่ข้อง ไปดี รู้แล้ว

ว่า เป็นพราหมณ์. เทพยดาคนธรรพ์และหมู่มนุษย์
ย่อมไม่รู้คติของผู้ใด เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีอาสวะสิ้น
แล้ว ผู้ไกลกิเลสว่า เป็นพราหมณ์.
37. ความกังวลในก่อน ในภายหลัง และใน
ท่ามกลางของผู้ใดไม่มี เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความ
กังวล ไม่มีความยึดมั่นว่า เป็นพราหมณ์.
38. เราเรียกบุคคลผู้องอาจ ประเสริฐ แกล้ว
กล้า แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้ชนะโดยวิเศษ ไม่
หวั่นไหว ผู้ล้างแล้ว ผู้รู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.
39. บุคคลใด รู้ขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน ทั้งเห็น
สวรรค์และอบาย อนึ่ง บรรลุความสิ้นไปแห่งชาติ
เสร็จกิจแล้ว เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี เราเรียกบุคคล
นั้น ซึ่งมีพรหมจรรย์อันอยู่เสร็จสรรพแล้วว่า เป็น
พราหมณ์.

จบพราหมณวรรคที่ 26

26. พราหมณวรรควรรณนา



1. เรื่องพราหมณ์ผู้มีความเลื่อมใสมาก [264]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้มี
ความเลื่อมใสมาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " ฉินฺท โสตํ ปรกฺกมฺม "
เป็นต้น.

พวกภิกษุรังเกียจวาทะของพราหมณ์


ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นฟังธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
มีจิตเลื่อมใส เริ่มตั้งนิตยภัตเพื่อภิกษุมีประมาณ 16 รูป ไว้ในเรือนของ
ตน รับบาตรในเวลาภิกษุทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า " ขอพระอรหันต์
ทั้งหลาย ผู้เจริญ จงมา, ขอพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เจริญ จงนั่ง" เมื่อ
จะกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็กล่าวคำประกอบเฉพาะด้วยวาทะว่าพระ-
อรหันต์เท่านั้น. บรรดาภิกษุเหล่านั้น พวกที่เป็นปุถุชนคิดกันว่า
" พราหมณ์นี้ มีความสำคัญในพวกเราว่าเป็นพระอรหันต์" พวกที่เป็น
พระขีณาสพก็คิดว่า " พราหมณ์นี้ ย่อมรู้ความที่พวกเราเป็นพระขีณาสพ,"
ภิกษุแม้ทั้งหมดนั้น ประพฤติรังเกียจอยู่อย่างนี้ จึงไม่ไปสู่เรือนของ
พราหมณ์นั้น. เขาเป็นผู้มีทุกข์เสียใจ คิดว่า " ทำไมหนอแล พระผู้เป็นเจ้า
จึงไม่มา" จึงไปยังวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้น.

ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่ยินดีต่อวาทะนั้น


พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุ