เมนู

แก้อรรถ


พึงทราบวิเคราะห์ในบทเหล่านั้นว่า :- ธรรมคือสมถะและวิปัสสนา
เป็นที่มายินดีของภิกษุนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า
ผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี, ผู้ยินดีแล้วในธรรมนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าผู้ยินดีแล้วในธรรม, ชื่อว่าผู้ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม เพราะนึกถึง
ธรรมนั้นนั่นแหละบ่อย ๆ, อธิบายว่า ผู้นึกถึงธรรมนั้นอยู่.
บทว่า อนุสฺสรํ ได้แก่ ระลึกถึงธรรมนั้นนั่นแหละอยู่.
บทว่า สทฺธมฺมา ความว่า ภิกษุเห็นปานนั้น ย่อมไม่เสื่อมจาก
โพธิปักขิยธรรม 37 ประเภท และจากโลกุตรธรรม 9.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นตั้งอยู่แล้วในพระอรหัต, เทศนาได้มี
ประโยชน์แม้แก่ผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระธรรมารามเถระ จบ.

5. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง [256]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้คบ
ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " สลาภํ
นาติมญฺเญยฺย " เป็นต้น.

ภิกษุคบภิกษุพวกพระเทวทัตเพราะเห็นแก่ลาภ


ดังได้สดับมา ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัตรูปหนึ่ง ได้เป็นสหาย
ของภิกษุรูปนั้น. ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัตนั้น เห็นเธอเที่ยวไป
เพื่อบิณฑบาตกับภิกษุทั้งหลาย ทำภัตกิจแล้ว (กลับ) มา จึงถามว่า " ท่าน
ไปไหน ?."
ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. ผมไปสู่ที่ชื่อโน้นเพื่อเที่ยวบิณฑบาต.
ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ท่านได้บิณฑบาตแล้วหรือ ?
ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. เออ เราได้แล้ว.
ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ในที่นี้แหละ พวกผมมีลาภและ
สักการะเป็นอันมาก, ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละสัก 2-3 วันเถิด.
เธออยู่ในที่นั้น 2-3 วันตามคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่อยู่
ของตนตามเดิม.
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคตว่า " พระ-
เจ้าข้า ภิกษุนี้บริโภคลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระเทวทัต, เธอเป็น
ฝักฝ่ายของพระเทวทัต."