เมนู

6. เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ [237]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภช้างชื่อ
ปาเวรกะของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อปฺปมาทรตา"
เป็นต้น.

ช้างของพระเจ้าโกศลติดหล่ม


ดังได้สดับมา ช้างนั้นในกาลเป็นหนุ่ม เป็นสัตว์มีกำลังมาก โดย
สมัยอื่นอีก ถูกกำลังแห่งลมซึ่งเกิดขึ้นเพราะชราตัดทอน ลงไปสู่สระใหญ่
สระหนึ่ง ติดอยู่ในหล่มแล้ว ไม่ได้อาจเพื่อจะขึ้นได้. มหาชนเห็นช้าง
นั้นแล้ว จึงสนทนากันขึ้นว่า " ช้างชื่อแม้เห็นปานนี้ ยังถึงทุพพลภาพนี้."
พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงบังคับนายหัตถาจารย์ว่า " เธอจงไป
จงยกช้างนั้นให้ขึ้นจากหล่ม." เขาไปแล้วแสดงการรบขึ้นที่นั่น ให้ตีกลอง
รบขึ้นแล้ว. ช้างซึ่งเป็นเชื้อชาติแห่งสัตว์มีมานะ ลุกขึ้นโดยเร็ว ดำรงอยู่
บนบกได้. ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดา.
พระศาสดาตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือ
เปือกตมตามปกติก่อน, ส่วนเธอทั้งหลาย แล่นลงแล้วในหล่มกิเลส;
เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้ง (ความเพียร) โดยแยบคายแล้ว
ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-
6. อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.

" ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท, จง
ตามรักษาจิตของตน, จงถอนตนขึ้นจากหล่ม ประหนึ่ง
ช้างที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาทรตา ความว่า ท่านทั้งหลาย
จงยินดียิ่งในความไม่อยู่ปราศจากสติ.
บทว่า สจิตฺตํ ความว่า จงรักษาจิตของตนในอารมณ์ทั้งหลายมีรูป
เป็นต้น โดยอาการที่มันจะทำความก้าวล่วงไม่ได้.
บทว่า สนฺโน ความว่า ช้างที่จมลงไปแล้วในเปือกตมตัวนั้น ทำ
ความพยายามด้วยเท้าหน้าและเท้าหลัง ถอนตนขึ้นพ้นจากเปือกตม ดำรง
อยู่บนบกได้ ฉันใด, แม้ท่านทั้งหลายก็จงถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลส
คือยังตนให้ดำรงอยู่บนบกคือพระนิพพาน ฉันนั้นเถิด.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตผลแล้ว ดัง
นี้แล.
เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ จบ