เมนู

สานุสามเณรนั้น กำหนดได้ในเมื่อมารดากล่าวอยู่ จึงกล่าวว่า " ฉัน
ไม่มีความต้องการด้วยความเป็นคฤหัสถ์." ครั้งนั้น มารดาของเธอกล่าวว่า
" สาธุ พ่อ" พอใจแล้ว ให้บริโภคโภชนะอันประณีต ถามว่า " พ่อ พ่อ
มีกาลฝนเท่าไร ?" ทราบความที่เธอมีกาลฝนครบแล้ว ก็จัดแจงไตรจีวร
ให้. เธอมีบาตรจีวรครบ ได้อุปสมบทแล้ว.
ต่อมา พระศาสดาเมื่อจะทรงยิ่งความอุตสาหะในการข่มจิตให้เกิดขึ้น
แก่เธอผู้อุปสมบทแล้วไม่นาน จึงตรัสว่า " ธรรมดาว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไป
ในอารมณ์ต่าง ๆ ตลอดกาลนาน, ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่บุคคล
ผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้, เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการ
ข่มจิต เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างมันด้วยขอ
ฉะนั้น" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-
5. อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ
เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ นิคฺคเหสฺสามิ โยนิโส
หตฺถิปฺปภินฺนํ วิย อํกุสคฺคโห.
" เมื่อก่อน จิตนี้ได้เที่ยวจาริกไป ตามอาการที่
ปรารถนา ตามอารมณ์ที่ใคร่ (และ) ตามความ
สบาย, วันนี้ เราจักข่มมันด้วยโยนิโสมนสิการ
ประหนึ่งนายควาญช้าง ข่มช้างที่ซับมันฉะนั้น."

แก้อรรถ


เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า; ก่อนแต่นี้ ชื่อว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไป
ในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นตลอดกาลนาน, ชื่อว่าตามอาการที่ปรารถนา

ด้วยสามารถแห่งอาการแห่งกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น อันเป็นเหตุ
ปรารถนา, ชื่อว่า (เที่ยวไป) ตามอารมณ์เป็นที่ใคร่ ด้วยสามารถแห่ง
อารมณ์เป็นที่เกิดความใคร่แห่งจิตนั้นนั่นแหละ, ชื่อว่าตามความสบาย
เพราะเมื่อมันเที่ยวด้วยอาการใด ความสุขจึงมี ก็เที่ยวไปด้วยอาการนั้น
นั่นแหละ, วันนี้ เราจักข่มจิตด้วยโยนิโสมนสิการ คือจักไม่ยอมให้มัน
ก้าวล่วงได้ เหมือนบุรุษผู้กุมขอไว้ (ในมือ) ผู้ฉลาด คือนายหัตถาจารย์
ข่มช้างซับมัน คือตกมันไว้ด้วยขอฉะนั้น.
ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก ผู้เข้าไป
เพื่อสดับธรรมพร้อมกับพระสานุ. ก็ท่านผู้มีอายุนั้น เรียนพระพุทธรจนะ
คือพระไตรปิฎกแล้ว ได้เป็นพระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญ ดำรง (ชีพ) อยู่
ตลอด 120 ปี ยังชมพูทวีปทั้งสิ้นให้กระฉ่อนแล้วปรินิพพาน ดังนี้แล.
เรื่องสานุสามเณร จบ.

6. เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ [237]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภช้างชื่อ
ปาเวรกะของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อปฺปมาทรตา"
เป็นต้น.

ช้างของพระเจ้าโกศลติดหล่ม


ดังได้สดับมา ช้างนั้นในกาลเป็นหนุ่ม เป็นสัตว์มีกำลังมาก โดย
สมัยอื่นอีก ถูกกำลังแห่งลมซึ่งเกิดขึ้นเพราะชราตัดทอน ลงไปสู่สระใหญ่
สระหนึ่ง ติดอยู่ในหล่มแล้ว ไม่ได้อาจเพื่อจะขึ้นได้. มหาชนเห็นช้าง
นั้นแล้ว จึงสนทนากันขึ้นว่า " ช้างชื่อแม้เห็นปานนี้ ยังถึงทุพพลภาพนี้."
พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงบังคับนายหัตถาจารย์ว่า " เธอจงไป
จงยกช้างนั้นให้ขึ้นจากหล่ม." เขาไปแล้วแสดงการรบขึ้นที่นั่น ให้ตีกลอง
รบขึ้นแล้ว. ช้างซึ่งเป็นเชื้อชาติแห่งสัตว์มีมานะ ลุกขึ้นโดยเร็ว ดำรงอยู่
บนบกได้. ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดา.
พระศาสดาตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือ
เปือกตมตามปกติก่อน, ส่วนเธอทั้งหลาย แล่นลงแล้วในหล่มกิเลส;
เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้ง (ความเพียร) โดยแยบคายแล้ว
ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-
6. อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุกฺขถ
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.