เมนู

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนปาลโก นาม นั่นเป็นชื่อของช้าง
ที่พระเจ้ากาสิกราช ทรงส่งนายหัตถาจารย์ไปให้จับในนาควันอันรื่นรมย์
ในครั้งนั้น.
บทว่า กฏุกปฺปเภทโน ความว่า ตกมันจัด. อันที่จริง ในกาล
เป็นที่ตกมันของช้างทั้งหลาย หมวกหูทั้ง 2 ย่อมแตกเยิ้ม, แม้ตามปกติ
ในกาลนั้น ช้างทั้งหลาย ย่อมไม่นำพาซึ่งขอ ปฏัก หรือโตมร ย่อมเป็น
สัตว์ดุร้าย, แต่ช้างธนปาลกะนั้น ดุร้ายนักทีเดียว; เพราะฉะนั้น พระ-
ศาสดาจึงตรัสว่า กฏุกปฺปเภทโน ทุนฺนิวารโย.
บาทพระคาถาว่า พทฺโธ กพลํ น ภุญฺชติ ความว่า ช้างธนปาลกะ
นั้น มิได้ถูกตกปลอกไว้, แต่ถูกเขานำไปสู่โรงช้าง ให้แวดวงด้วยม่าน
อันวิจิตรแล้ว พักไว้บนพื้นที่ซึ่งทำการประพรมด้วยของหอม มีเพดาน
วิจิตรดาดไว้ ณ เบื้องบน แม้อันพระราชาให้บำรุงด้วยโภชนะมีรสเลิศ
ต่าง ๆ ควรแก่พระราชา ก็มิไยดีจะบริโภคอะไร ๆ. อันคำว่า " พทฺโธ
กพลํ น ภุญฺชติ"
( นี้ ) พระศาสดาตรัสหมายถึงอาการเพียงช้างถูกส่ง
เข้าไปสู่โรงช้าง.
สองบทว่า สุมรติ นาควนสฺส ความว่า ช้างธนปาลกะนั้นระลึก
ถึงนาควัน ซึ่งเป็นที่อยู่อันน่ารื่นรมย์แท้หามิได้, ก็มารดาของช้างนั้น
ได้เป็นสัตว์ถึงทุกข์เพราะพรากจากบุตรในป่า, ช้างนั้นบำเพ็ญมาตาปิตุ-
อุปัฏฐานธรรมนั่นแล. ดำริว่า " ประโยชน์อะไรของเราด้วยโภชนะนี้"
ระลึกถึงมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรม ซึ่งประกอบด้วยธรรมเท่านั้น; ก็ช้างนั้น

อยู่ในนาควันนั้นนั่นแล อาจบำเพ็ญมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรมนั้นได้, เพราะ-
ฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า " สุมรติ นาควนสฺส กุญฺชโร"
เมื่อพระศาสดา ครั้นทรงนำบุรพจริยาของพระองค์นี้มาตรัสอยู่นั่น
แล บุตรของพราหมณ์แม้ทั้งหมด ยังอัสสุธารให้ไหลแล้ว มีหทัยอ่อน
เงี่ยโสตลงสดับแล้ว. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงธรรมเป็น
ที่สบายของพวกเขาแล้ว จึงทรงแสดงธรรมประกาศสัจจะทั้งหลาย.
ในกาลจบเทศนา พราหมณ์พร้อมกับบุตรและลูกสะใภ้ทั้งหลาย
ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า จบ.

4. เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล [235]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าปเสน-
ทิโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " มิทฺธี ยทา " เป็นต้น.

พระเจ้าปเสนทิโกศลง่วงเพราะเสวยจุเกินไป


ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระราชาเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสารทะนาน
หนึ่ง กับสูปพยัญชนะพอควรแก่ข้าวสุกนั้น. วันหนึ่ง ท้าวเธอเสวย
พระกระยาหารเช้าแล้ว ยังไม่ทรงบรรเทาความเมาในภัตได้เลย ได้เสด็จ
ไปสู่สำนักของพระศาสดา มีพระรูปอันลำบาก พลิกไปข้างนี้และข้างนี้
แม้ถูกความง่วงครอบงำ เมื่อไม่สามารถจะผทมตรง ๆ ได้ จึงประทับนั่ง
ณ ที่สุดข้างหนึ่ง.

พระศาสดาทรงติการบริโภคจุ


ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า " มหาบพิตร พระองค์ยัง
ไม่ทันได้ทรงพักผ่อนเลย เสด็จมากระมัง ?"
พระราชา. " ถูกละ พระเจ้าข้า, ตั้งแต่กาลที่บริโภคแล้ว หม่อมฉัน
มีทุกข์มาก."
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท้าวเธอว่า " มหาบพิตร คนบริโภค
มากเกินไป ย่อมมีทุกข์อย่างนี้" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
4. มิทฺธี ยทา โหติ มหคฺฆโส จ
นิทฺทายิตา สมฺปริวตฺตสายี
มหาวราโหว นิวาปปุฏฺโฐ
ปุนปฺปุนํ คพฺภมุเปติ มนฺโท.