เมนู

7. เรื่องอาคันตุกภิกษุ [229]



ข้อความเบื้องต้น



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้
อาคันตุกะหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " นครํ ยถา " เป็นต้น.

พวกภิกษุไปกรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา


ได้ยินว่า พวกภิกษุเหล่านั้น เข้าจำพรรษาอยู่ในปัจจันตนครแห่ง
หนึ่ง ได้อยู่เป็นสุขในเดือนแรก. ในเดือนท่ามกลาง พวกโจรได้มาปล้น
บ้านอันที่โคจรของภิกษุเหล่านั้น จับชาวบ้านเป็นเชลยไป. จำเดิม
แต่กาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้พากันมาปฏิสังขรณ์ปัจจันตนครนั้น เพื่อ
ประโยชน์จะป้องกันพวกโจร จึงไม่ได้โอกาสจะอุปัฏฐากภิกษุเหล่านั้น
อย่างแข็งแรง. พวกภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาหาความสำราญมิได้ (ครั้น)
ออกพรรษาแล้ว ได้ไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อจะเฝ้าพระศาสดา ถวาย
บังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.

พระศาสดาตรัสถามสุขทุกข์กะภิกษุเหล่านั้น


พระศาสดาทรงทำการปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้น ตรัสถามว่า
" ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพากันอยู่สบายหรือ ? " เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูล
ว่า " พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์อยู่สบายแต่ในเดือนแรกเท่านั้น, ใน
เดือนท่ามกลาง พวกโจรได้ปล้นบ้าน, จำเดิมแต่กาลนั้นมนุษย์ทั้งหลาย
พากันปฏิสังขรณ์นคร ไม่ได้โอกาสจะบำรุงอย่างแข็งแรง; เพราะฉะนั้น
พวกข้าพระองค์ จึงจำพรรษาหาความสำราญมิได้ " จึงตรัสว่า " ช่างเถอะ
ภิกษุทั้งหลาย, พวกเธออย่าได้คิดเลย, ธรรมดาว่าความอยู่เป็นสุขสำราญ

ตลอดกาลเป็นนิตย์ อันบุคคลหาได้ยาก; ธรรมดาว่าภิกษุ รักษาอัตภาพ
นั่นแหละ เหมือนกับพวกมนุษย์เหล่านั้นคุ้มครองนครฉะนั้น ย่อมควร "
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
7. นครํ ยถา ปจฺจนตํ คุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํ ขโณ โว มา อุปจฺจคา
ขณาตีตา หิ โสจนฺติ นิรยมฺหิ สมปฺปิตา.
" ท่านทั้งหลายควรรักษาตน เหมือนกับพวก
มนุษย์ป้องกัน ทั้งภายในและภายนอก
ฉะนั้น, ขณะอย่าเข้าไปล่วงท่านทั้งหลายเสีย; เพราะ
ว่าชนทั้งหลายผู้ล่วงเสียซึ่งขณะ เป็นผู้เบียดเสียด
กันในนรก เศร้าโศกอยู่. "

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตรพาหิรํ เป็นต้น ความว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย ปัจจันตนครนั้น อันมนุษย์เหล่านั้นช่วยกันทำที่มั่นทั้งหลายมี
ประตูและกำแพงเป็นต้น ชื่อว่าทำให้มั่นในภายใน เขาทำที่มั่นทั้งหลาย
มีป้อมและคูเป็นต้น ชื่อว่าทำให้มั่นในภายนอก เพราะเหตุนั้นปัจจันตนคร
นั้น จึงเป็นเมืองที่พวกมนุษย์ทำให้มั่นทั้งภายในทั้งภายนอกรักษาแล้ว
ฉันใด; ก็พวกท่านจงเข้าไปตั้งสติไว้ จงปิดทวารทั้ง 6 อันเป็นภายใน ไม่
ปล่อยสติซึ่งรักษาทวาร ทำอายตนะภายใน 6 เหล่านั้นให้มั่น ด้วยการไม่
ถือเอาโดยประการที่อายตนะภายนอก 6 ซึ่งยึดถืออยู่ จะเป็นไปเพื่อขจัด
อายตนะภายในเสีย ไม่ละสติที่รักษาทวาร เพื่อไม่ให้อายตนะภายนอก
เหล่านั้นเข้าไปประพฤติอยู่ ชื่อว่ารักษาตนไว้ฉันนั้น.