เมนู

6. เรื่องหญิงขี้หึง [228]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงขี้หึง
คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อกตํ " เป็นต้น.

หญิงขี้หึงทำกรรมชั่วแล้วคิดปกปิด


ได้ยินว่า สามีของหญิงนั้นได้ทำความเชยชิดกับหญิงรับใช้ในเรือน
คนหนึ่ง. หญิงขี้หึงนั้น มัดมือมัดเท้าหญิงรับใช้คนนั้นไว้แล้วตัดหูตัดจมูก
ของเขา ขังไว้ในห้องว่างห้องหนึ่ง ปิดประตูแล้ว เพื่อจะปกปิดความที่
กรรมนั้นอันตนทำแล้ว (ชวนสามี) ว่า " มาเถิดนาย, เราจักไปวัดฟัง
ธรรม " พาสามีไปวัดนั่งฟังธรรมอยู่. ขณะนั้นพวกญาติผู้เป็นแขกของ
นางมายังเรือน (ของนาง) แล้ว เปิดประตูเห็นประการอันแปลกนั้นแล้ว
แก้หญิงรับใช้ออก. หญิงรับใช้นั้นไปวัด กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระ-
ทศพล ในท่ามกลางบริษัท 4.

กรรมชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง


พระศาสดาทรงสดับคำของหญิงรับใช้นั้นแล้ว ตรัสว่า " ขึ้นชื่อว่า
ทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า ' ชนพวก
อื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา ' (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้
ก็ควรทำ, เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผา
ผลาญในภายหลัง, (ส่วน) สุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

6. อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ.
" กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า, (เพราะ) กรรม
ชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนบุคคลทำกรรม
ใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้น เป็นกรรมดี
อันบุคคลทำแล้วดีกว่า."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺกตํ ความว่า กรรมอันมีโทษยัง
สัตว์ให้เป็นไปในอบาย ไม่ทำเสียเลยดีกว่า คือประเสริฐ ได้แก่ยอดเยี่ยม.
สองบทว่า ปจฺฉา ตปฺปติ ความว่า เพราะกรรมนั้น ย่อมเผาผลาญ
ในกาลที่ตนตามระลึกถึงแล้ว ๆ ร่ำไป.
บทว่า สุกตํ ความว่า ส่วนกรรมอันไม่มีโทษ มีสุขเป็นกำไร
ยังสัตว์ให้เป็นไปในสุคติอย่างเดียว บุคคลทำแล้วดีกว่า.
สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่
เดือดร้อนในภายหลัง คือในกาลเป็นที่ระลึกถึง ชื่อว่า ย่อมไม่ตามเดือดร้อน
คือเป็นผู้มีโสมนัสอย่างเดียว, กรรมนั้นอันบุคคลทำแล้ว ประเสริฐ.
ในกาลจบเทศนา อุบาสกและหญิงนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว,
ก็แลชนทั้งหลายทำหญิงรับใช้นั้นให้เป็นไท ในที่นั้นนั่นแล แล้วทำให้
เป็นหญิงมีปกติประพฤติธรรม ดังนี้แล.
เรื่องหญิงขี้หึง จบ.