เมนู

7. เรื่องจิตตคฤหบดี [220]



ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภจิตตคฤหบดี
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน " เป็นต้น.

ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่จิตตคฤหบดี


เรื่องข้าพเจ้าให้พิสดารแล้ว ในวรรณนาแห่งพระคาถา ในพาล-
วรรคว่า " อสนฺตํ ภาวมิจฺเฉยฺย " เป็นต้น. แม้พระคาถา (นี้) ก็มา
แล้วในพาลวรรคนั้นเหมือนกัน. จริงอยู่ ในพาลวรรคนั้น ข้าพเจ้ากล่าว
ไว้ว่า
(พระอานนทเถระ ทูลถามพระศาสดาว่า) " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็สักการะนี้เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั่น แม้ผู้มาสู่สำนักของพระองค์เท่านั้น
หรือ ? หรือแม้ไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ? "
พระศาสดาตรัสว่า " อานนท์ เมื่อจิตตคฤหบดีนั้นมาสู่สำนักของเรา
ก็ดี ไปในที่อื่นก็ดี, สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น, เพราะอุบาสกนี้ เป็นผู้มี
ศรัทธาเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยศีล, อุบาสกผู้เห็นปานนี้ ย่อมไปประเทศ
ใดๆ; ลาภสักการะย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้น ๆ ทีเดียว " ดังนี้แล้ว จึง
ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
7. สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปิโต
ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต.
" ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อมด้วย

ยศและโภคะ จะไปประเทศใด ๆ, ย่อมเป็นผู้อัน
เขาบูชาแล้ว ในประเทศนั้น ๆ ทีเดียว."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศรัทธา
อันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.
บทว่า สีเลน ความว่า ศีลมี 2 อย่าง คือ ศีลสำหรับผู้ครองเรือน 1
ศีลสำหรับผู้ไม่ครองเรือน 1, ใน 2 อย่างนั้น ศีลสำหรับผู้ครองเรือน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในบทนี้, ความว่า ผู้ประกอบด้วยศีล
สำหรับผู้ครองเรือนนั้น.
บาทพระคาถาว่า ยโสโภคสมปฺปิโต ความว่า ผู้ประกอบแล้วด้วย
ยศสำหรับผู้ครองเรือน กล่าวคือความมีอุบาสก 500 เป็นบริวาร เช่น
ของชนทั้งหลาย มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น และด้วยโภคะ 2 อย่าง
(คือ) โภคะมีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นอย่างหนึ่ง คืออริยทรัพย์ 7
อย่างหนึ่ง.
สองบทว่า ยํ ยํ เป็นต้น ความว่า กุลบุตรผู้เห็นปานนี้ ไปสู่ประเทศ
ใด ๆ ในทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้น; ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้วใน
ประเทศนั้นๆ ด้วยลาภและสักการะเห็นปานนั้นเทียว.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องจิตตคฤหบดี จบ.