เมนู

21. ปกิณณกวรรควรรณนา



1. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ [214]



ข้อความเบื้องต้น



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรพกรรม
ของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " มตฺตาสุขปริจฺจาคา" เป็นต้น.

เกิดภัย 3 อย่างในเมืองไพศาลี


ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง เมืองไพศาลีได้เป็นเมืองมั่งคั่งกว้าง-
ขวาง มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น. ก็ในเมืองไพศาลีนั้นได้มีกษัตริย์
ครอบครองราชสมบัติตามวาระกันถึงเจ็ดพันเจ็ดร้อยพระองค์. ปราสาท
เพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของกษัตริย์เหล่านั้น ก็มีประมาณเท่านั้น
เหมือนกัน, เรือนยอดก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน; สถานที่รื่นรมย์และ
สระโบกขรณี เพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้มี
ประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.
โดยสมัยอื่นอีก เมืองไพศาลีนั้นได้เป็นเมืองมีภิกษาหาได้ยาก ข้าว
กล้าเสียหาย. ทีแรกพวกมนุษย์ที่ขัดสนในเมืองไพศาลีนั้น ได้ตายแล้ว
(มากกว่ามาก) เพราะโทษคือความหิว. พวกอมนุษย์ก็เข้าไปสู่พระนคร
เพราะกลิ่นซากศพของมนุษย์เหล่านั้น อันเขาทิ้งไว้ในที่นั้น ๆ, มนุษย์
ทั้งหลายได้ตายมากกว่ามาก เพราะอุปัทวะที่เกิดจากอมนุษย์. อหิวาตกโรค
เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะความปฏิกูลด้วยกลิ่นศพแห่งมนุษย์เหล่านั้น.

ภัย 3 อย่าง คือ "ภัยเกิดแต่ภิกษาหาได้ยาก 1 ภัยเกิดแต่อมนุษย์ 1
ภัยเกิดแต่โรค 1" เกิดขึ้นแล้วด้วยประการฉะนี้.
ชาวนครประชุมกันแล้ว กราบทูลพระราชาว่า "มหาราช ภัย 3
อย่างเกิดขึ้นแล้วในพระนครนี้, ในกาลก่อนแต่กาลนี้ จนถึงพระราชา
ชั้น 7 ชื่อว่าภัยเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแล้ว; เพราะว่าในรัชกาลของ
พระราชาผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ภัยเห็นปานนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น."
พระราชารับสั่งให้ทำการประชุมชนทั้งปวงในท้องพระโรงแล้ว
ตรัสว่า "ถ้าว่าความไม่ทรงธรรมของเรามีอยู่ไซร้, ท่านทั้งหลายจงตรวจ
ดูซึ่งเหตุนั้น." ชาวเมืองไพศาลีตรวจดูประเพณีทุกอย่าง ไม่เห็นโทษ
อะไร ๆ ของพระราชา จึงกราบทูลว่า "มหาราช โทษของพระองค์
ไม่มี" จึงปรึกษากันว่า "อย่างไรหนอแล ภัยของพวกเรานี้พึงถึงความ
สงบ ?" บรรดาชนเหล่านั้น เมื่อบางพวกกล่าวว่า "ภัยพึงถึงความสงบ
ด้วยการพลีกรรม ด้วยการบวงสรวง ด้วยการกระทำมงคล," ชนเหล่า
นั้นทำพิธีนั้นทั้งหมด ก็ไม่อาจป้องกันได้.
ชนพวกอื่นกล่าวกันอย่างนี้ว่า "ครูทั้ง 6 มีอานุภาพมาก, พอเมื่อ
ครูทั้ง 6 มาในที่นี้แล้ว, ภัยพึงสงบไป." อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า "พระ-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก, อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์
นั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สรรพ-
สัตว์; เมื่อพระองค์เสด็จมาในที่นี้แล้ว, ภัยเหล่านี้พึงถึงความสงบได้."
ชนแม้ทุกจำพวกชอบใจถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ?"

ชาวเมืองไพศาลีให้ไปทูลเชิญพระศาสดา


ก็ในกาลนั้น เมื่อดิถีเป็นที่เข้าจำพรรษาใกล้เข้ามาแล้ว, พระศาสดา
ทรงประทานปฏิญญาแก่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วเสด็จอยู่ในพระเวฬุวัน.
ก็โดยสมัยนั้น เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
พร้อมด้วยพระเจ้าพิมพิสารในสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งใน
ที่ใกล้แห่งบริษัทนั้น. ชาวเมืองไพศาลี ตระเตรียมบรรณาการใหญ่ ส่ง
เจ้ามหาลีลิจฉวีและบุตรของปุโรหิตไปด้วยสั่งว่า " ท่านทั้งหลาย จงยัง
พระเจ้าพิมพิสารให้ยินยอมแล้ว นำพระศาสดามาในพระนครนี้." เจ้า
มหาลีลิจฉวีและบุตรปุโรหิตเหล่านั้นไปแล้ว ถวายบรรณาการแด่พระราชา
กราบทูลความเป็นไปนั้นให้ทรงทราบแล้วอ้อนวอนว่า " มหาราช ขอ
พระองค์ทรงส่งพระศาสดาไปยังพระนครแห่งข้าพระองค์."
พระราชา ตรัสว่า " ท่านทั้งหลายจงรู้เอาเองเถิด" แล้วไม่ทรงรับ
(บรรณาการนั้น). ชนเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคม
แล้ว ทูลอ้อนวอนว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเมืองไพศาลีเกิดภัย 3
อย่าง, เมื่อพระองค์เสด็จไป, ภัยเหล่านั้นก็จักสงบ, เชิญเสด็จเถิด
พระเจ้าข้า. ข้าพระองค์ทั้งหลายจะไป." พระศาสดาทรงสดับคำของชน
เหล่านั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทรงทราบว่า " ในเมืองไพศาลี เมื่อ
เราสวดรัตนสูตร, อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล, ในกาลจบ
พระสูตร การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน, ภัยเหล่านั้นก็จัก
สงบไป" แล้วทรงรับถ้อยคำของชนเหล่านั้น.

พระศาสดาเสด็จเมืองไพศาลี


พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า " นัยว่า พระศาสดาทรงรับการ