เมนู

4. เรื่องพระอธิมานิกภิกษุ [121]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุผู้มี
ความสำคัญว่าตนได้บรรลุพระอรหัตผลหลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
" ยานิมานิ " เป็นต้น.

พวกภิกษุสำคัญผิด


ดังได้สดับมา ภิกษุ 500 รูปเรียนกรรมฐานในสำนักพระศาสดา
แล้ว เข้าไปสู่ป่า พากเพียรพยายามอยู่ ยังฌานให้เกิดขึ้นแล้ว สำคัญว่า
" กิจบรรพชิตของพวกเราสำเร็จแล้ว " เพราะกิเลสทั้งหลายไม่ฟุ้งขึ้น จึง
(กลับ) มาด้วยหวังว่า " จักกราบทูลคุณที่ตนได้แล้วแด่พระศาสดา. "

พระศาสดาจึงแก้ความสำคัญผิดนั้น


ในเวลาที่พวกเธอถึงซุ้มประตูชั้นนอกเท่านั้น พระศาสดาตรัสกะ
พระอานนทเถระว่า " อานนท์ การงาน (เกี่ยว) ด้วยเราผู้อันภิกษุเหล่านี้
เข้ามาเฝ้า ยังไม่มี. ภิกษุเหล่านี้จงไปป่าช้าผีดิบ (เสียก่อน) กลับมาจาก
ที่นั้นแล้วจึงค่อยเฝ้าเรา." พระเถระไปแจ้งความนั้นแก่พวกเธอแล้ว. พวก
เธอไม่พูดเลยว่า " พวกเราจะได้ประโยชน์อะไรด้วยป่าช้าผีดิบ " คิดเสียว่า
" พระพุทธเจ้าทรงเห็นการณ์ไกล จักทรงเห็น (เหตุ) การณ์ ดังนี้แล้ว ไป
สู่ป่าช้าผีดิบแล้ว เมื่อเห็นศพในที่นั้น กลับได้ความเกลียดชังในซากศพ
ที่เขาทิ้งไว้ 1 วัน 2 วัน ยังความกำหนัดให้เกิดในสรีระอันสดซึ่งเขาทิ้ง
ไว้ในขณะนั้น. ในขณะนั้นก็รู้ว่าตนยังมีกิเลส. พระศาสดาประทับนั่งใน
พระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงฉายพระรัศมีไป ดุจตรัสอยู่เฉพาะหน้าของภิกษุ
เหล่านั้น. ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเห็นร่างกระดูก

เช่นนั้น ยังความยินดีด้วยอำนาจราคะให้เกิดขึ้น ควรละหรือ ? " ดังนี้แล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า
4. ยานิมานิ อปตฺถานิ อลาปูเนว1 สารเท
กาโปตกานิ อฏฺฐีนิ ตานิ ทิสฺวาน กา รติ.
" กระดูกนี้เหล่าใด อันเขาทิ้งเกลื่อนกลาด ดุจ
น้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ ความยินดี
อะไรเล่า ? (จักมี) เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปตฺถานิ ได้แก่ อันเขาทิ้งแล้ว. บทว่า
สารเท ความว่า เหมือนน้ำเต้าที่ถูกลมและแดดกระทบ หล่นเกลื่อนกลาด
ในที่นั้นๆ ในสารทกาล. ว่า กาโปตกานิ แปลว่า มีสีเหมือนสีนก
พิราบ. สองบทว่า ตานิ ทิสฺวาน ความว่า ความยินดีอะไรเล่าของพวก
เธอ (จักมี) เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น คือเห็นปานนั้น การทำความ
ยินดีในกามแม้เพียงนิดหน่อย ย่อมไม่ควรเลย มิใช่หรือ ?
ในเวลาจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ตามที่ยืนอยู่
เทียว ชมเชย พระผู้มีพระภาคเจ้า มาถวายบังคมแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระอธิมานิกภิกษุ จบ.
1. อรรถกถาว่า อลาพูเนว.