เมนู

อุบาสกเห็นพระองค์เสด็จมา จึงคิดว่า " เราควรลุกขึ้นหรือไม่หนอ ?"
ดังนี้แล้ว ก็ไม่ลุกขึ้น ด้วยสำคัญว่า "เรานั่งในสำนักของพระราชา
ผู้เลิศ การที่เรานั้นเห็นเจ้าประเทศราช แล้วลุกขึ้นต้อนรับ ไม่ควร;
ก็แล เมื่อเราไม่ลุกขึ้น พระราชาจักกริ้ว. เมื่อพระราชานั้นแม้กริ้วอยู่
เราก็จักไม่ลุกขึ้นต้อนรับละ; ด้วยว่า เราเห็นพระราชาแล้ว ลุกขึ้น
ก็ชื่อว่าเป็นอันทำความเคารพพระราชา ไม่ทำความเคารพพระศาสดา;
เราจักไม่ลุกขึ้นละ."
ก็ธรรมดาบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นคนที่นั่งในสำนักของท่านที่ควร
เคารพกว่า (ตน) ไม่ลุกขึ้น (ต้อนรับ) ย่อมไม่โกรธ. แต่พระราชา
เห็นอุบาสกนั้น ไม่ลุกขึ้น (ต้อนรับ) มีพระมนัสขุ่นเคือง ถวายบังคม
พระศาสดาแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงทราบ
ความที่พระราชากริ้ว จึงตรัสกถาพรรณนาคุณของอุบาสกว่า "มหาบพิตร
ฉัตตปาณิอุบาสกนี้เป็นบัณฑิต มีธรรมเห็นแล้ว ทรงพระไตรปิฎก ฉลาด
ในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์. เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของ
อุบาสกอยู่นั้นแล พระหฤทัยก็อ่อน.

พระราชาตรัสถามเหตุที่ไม่ลุกรับกะฉัตตปาณิ


ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาประทับยืนบนปราสาทชั้นบน ทอด
พระเนตรเห็นฉัตตปาณิอุบาสกผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้ว กั้นร่ม สวมรองเท้า
เดินไปทางพระลานหลวง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา. อุบาสกนั้น
หุบร่มและถอดรองเท้าออกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง, ลำดับนั้น พระราชา ตรัสกะอุบาสก

นั้นว่า "อุบาสกผู้เจริญ ทำไมท่านจึงหุบร่มและถอดรองเท้าออกเสียเล่า ?
อุบาสก. ข้าพระองค์ได้ฟังว่า ' พระราชารับสั่งหา' จึงมาแล้ว.
พระราชา. ความที่เราเป็นพระราชา (ชะรอย) ท่านจักเพิ่งรู้ใน
วันนี้ (กระมัง?).
อุบาสก. ข้าพระองค์ทราบความที่พระองค์เป็นพระราชา แม้ใน
กาลทุกเมื่อ.
พระราชา. เมื่อเป็นเช่นนั้น, ทำไม ในวันก่อน ท่านนั่งใน
สำนักของพระศาสดา เห็นเราแล้ว จึงไม่ลุกขึ้น (ต้อนรับ).
อุบาสก. ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์นั่งในสำนักของพระราชา
ผู้เลิศ เมื่อเห็นพระราชาประเทศราชแล้วลุกขึ้น (ต้อนรับ) พึงเป็น
ผู้ไม่เคารพในพระศาสดา; เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ลุกขึ้น
(ต้อนรับ).
พระราชา. ช่างเถอะ ผู้เจริญ, ข้อนี้งดไว้ก่อน, เขาเลื่องลือกันว่า
ท่านเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปในทิฎฐธรรม
และสัมปรายภพ ทรงพระไตรปิฎก จงบอกธรรมแก่เราทั้งหลายในภายใน
วังเถิด.
อุบาสก. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่สามารถ.
พระราชา. เพราะเหตุไร ?
อุบาสก. เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าพระราชมนเทียร (แล้ว) ย่อม
เป็นสถานที่มีโทษมาก, ข้าแต่สมมติเทพ ในพระราชมนเฑียรนี้ กรรมที่
บุคคลประกอบชั่วและดี ย่อมเป็นกรรมหนัก.
พระราชา. ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น, อย่าทำความรังเกียจว่า 'วัน

ก่อนเห็นเราแล้วไม่ลุกขึ้น (ต้อนรับ );
อุบาสก. ข้าแต่สมมติเทพ ขึ้นชื่อว่า สถานเป็นที่เที่ยวของเหล่า
คฤหัสถ์ เป็นสถานที่มีโทษ, ขอพระองค์จงรับสั่งให้นิมนต์บรรพชิต
รูปหนึ่งมาแล้ว จงให้บอกธรรมเถิด.

พระอานนท์สอนธรรมพระราชเทวีทั้งสอง


พระราชาทรงส่งฉัตตปาณิอุบาสกนั้นไปด้วยพระกระแสว่า "ดีละ
ผู้เจริญ. ขอท่านจงไปเถิด" ดังนี้แล้ว เสด็จไปสู่ที่เฝ้าพระศาสดาทูลขอ
กะพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระนางมัลลิกาเทวีและพระนางวาสภขัตติยา
พูดอยู่ว่า 'จักเรียนธรรม' ขอพระองค์กับภิกษุ 500 รูป จงเสด็จไป
สู่เรือนของข้าพระองค์เนืองนิตย์ ทรงแสดงธรรมแก่หล่อนทั้งสอง."
พระศาสดา. ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไปในที่แห่งเดียว
เนืองนิตย์ ไม่มี มหาบพิตร.
พระราชา. ถ้าอย่างนั้น ขอจงประทานภิกษุรูปอื่น พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ได้ทรงมอบให้เป็นภาระแก่พระอานนท์เถระ. พระ-
เถระ ไปแสดงพระบาลีแก่พระนางเหล่านั้นเนืองนิตย์. ในพระนาง
เหล่านั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้เรียน ได้ท่อง (และ) ให้พระเถระ
รับรองพระบาลีโดยเคารพ. ส่วนพระนางวาสภขัตติยา ไม่เรียน ไม่ท่อง
โดยเคารพทีเดียว ( และ) ไม่อาจให้พระเถระรับรองพระบาลีโดยเคารพ
ได้. ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามพระเถระว่า "อานนท์ อุบาสิกา
(ทั้งสอง) ยังเรียนธรรมอยู่หรือ ?"