เมนู

ผู้เลื่อมใสในอนุโมทนากถา


ชายบัณฑิตผู้หนึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ ได้ฟังอนุโมทนากถานั้นแล้วคิด
ว่า "บัดนี้ เราจักทำอย่างที่สมบัติทั้งสองจักมีแก่เรา." เขาถวายบังคม
พระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า " พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของ
ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. ต้องการภิกษุเท่าไร ?
บัณฑิต. ก็บริวารของพระองค์ มีเท่าไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. มีภิกษุ 2 หมื่นรูป.
บัณฑิต. พระเจ้าข้า พรุ่งนี้ ขอพระองค์กับภิกษุทั้งหมด โปรดทรง
รับภิกษาของข้าพระองค์.
พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว. เขาเข้าไปบ้านแล้ว เดินบอกบุญ
ว่า "แม่และพ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้ ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุขไว้ ( เพื่อรับภิกษา). ท่านทั้งหลายจงถวายแก่ภิกษุเท่าจำนวน
ที่สามารถ ( ถวายได้)." เมื่อชนทั้งหลายกำหนดกำลังของตน ๆ แล้ว
กล่าวว่า "พวกเรา จักถวาย 10 รูป, พวกเราจักถวาย 20 รูป, พวกเรา
100 รูป, พวกเรา 500 รูป" ดังนี้แล้ว จึงจดคำของคนทั้งหมดลง
ไว้ในบัญชีตั้งแต่ต้นมา.

ชายเข็ญใจยินดีรับเลี้ยงภิกษุ


ก็ในสมัยนั้น ในกรุงนั้นมีชายคนหนึ่งปรากฏชื่อว่า " มหาทุคตะ"
เพราะความเป็นผู้ยากจนยิ่งนัก. ชายบัณฑิตนั้นเห็นชายเข็ญใจแม้นั้นมา
เฉพาะหน้า จึงบอกว่า "เพื่อนมหาทุคตะ ข้าพเจ้าได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์

มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไว้ เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้, พรุ่งนี้ ชาวเมือง
จักถวายทานกัน, แกจักเลี้ยงภิกษุสักกี่รูป ?"
มหาทุคตะ. คุณ ผมจะต้องการอะไรด้วยภิกษุเล่า ? ชื่อว่าความ
ต้องการภิกษุ เป็นของคนมีทรัพย์, ส่วนผมแม้สักว่าข้าวสารทะนานหนึ่ง
เพื่อประโยชน์แก่ข้าวต้มพรุ่งนี้ ก็ไม่มี, ผมทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพ. ผม
จะต้องการอะไรด้วยภิกษุ ?
ธรรมดาผู้ชักชวนพึงเป็นผู้ฉลาด. เพราะฉะนั้น ชายบัณฑิตนั้น
แม้เมื่อมหาทุคตะพูดว่า "ไม่มี" ก็ไม่นิ่งเฉย ยังกล่าวอย่างนี้ว่า
"เพื่อนมหาทุคตะ คนเป็นอันมาก ในเมืองนี้ บริโภคโภชนะอย่างดี
นุ่งผ้าเนื้อละเอียด แต่งตัวด้วยเครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ นอนบนที่นอนอัน
สง่างาม ย่อมเสวยสมบัติกัน, ส่วนแกทำงานรับจ้างตลอดวัน ยังไม่ได้
อาหารแม้พอเต็มท้อง; แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ แกยังไม่รู้สึกว่า 'เราไม่ได้
อะไรๆ เพราะไม่ได้ทำบุญอะไร ๆ ไว้แม้ในกาลก่อน."
มหาทุคตะ. ผมทราบ คุณ.
บัณฑิต. เมื่อเช่นนั้น ทำไมบัดนี้แกจึงไม่ทำบุญเล่า ? แกยังเป็น
หนุ่ม มีเรี่ยวแรงสมบูรณ์ แกแม้ทำงานจ้างแล้ว ให้ทานตามกำลัง จะ
ไม่ควรหรือ ?
มหาทุคตะนั้น เมื่อชายบัณฑิตกล่าวอยู่ ถึงความสลดใจ จึงพูด
ว่า "คุณจงลงบัญชีภิกษุให้ผมบ้างสักรูปหนึ่ง, ผมจักทำงานจ้างอะไร
สักอย่างแล้ว จักถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. ชายบัณฑิตนอกนี้ คิดว่า
"ภิกษุรูปเดียว จะจดลงในบัญชีทำไม ?" ดังนี้แล้วจึงไม่จดไว้.
ฝ่ายมหาทุคตะ ไปเรือนแล้ว พูดกะภรรยาว่า "หล่อน พรุ่งนี้

ชาวเมืองเขาจัดภัตเพื่อพระสงฆ์ แม้ฉันก็ถูกผู้ชักชวนบอกว่า 'จงถวาย
ภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. พวกเราจักถวายภิกษาแก่ภิกษุรูปหนึ่ง พรุ่งนี้."
ลำดับนั้น ภรรยาของเขาไม่พูดเลยว่า " พวกเราเป็นคนจน, แกรับคำ
เขาทำไม ?" กล่าวว่า " นาย แกทำดีแล้ว, เมื่อก่อนเราไม่ให้อะไร ๆ
ชาตินี้จึงเกิดเป็นคนยากจน, เราทั้งสองคน ทำงานจ้างแล้ว จักถวาย
แก่ภิกษุรูปหนึ่ง" แม้ทั้งสองคนได้ออกไปสู่ที่สำนักงานจ้าง. มหาเศรษฐี
เห็นมหาทุคตะ จึงถามว่า "เพื่อนมหาทุคตะ เธอจักทำงานจ้างหรือ ?"
มหาทุคตะ. ขอรับ กระผม.
มหาเศรษฐี. จักทำอะไร ?
มหาทุคตะ. แล้วแต่ท่านจักให้ทำ.
มหาเศรษฐีกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ เราจักเลี้ยงภิกษุ 2 - 3
ร้อย, จงมา ผ่าฟืนเถิด" แล้วก็ให้หยิบมีดและขวานมาให้. มหาทุคตะ
ถกเขมรอย่างแข็งแรง ถึงความอุตสาหะ วางมีด คว้าขวาน ทิ้งขวาน
ฉวยมีด ผ่าฟืนไป.
ลำดับนั้น เศรษฐีพูดกะเขาว่า "เพื่อน วันนี้ เธอขยันทำงาน
เหลือเกิน, มีเหตุอะไรหรือ ?"
มหาทุคตะ. นาย ผมจักเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง.
เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว มีใจเลื่อมใส คิดว่า น่าเลื่อมใสจริง
มหาทุคตะนี้ ทำกรรมที่ทำได้ยาก, เขาไม่ถึงความเฉยเมยด้วยคิดว่า
'เราจน' พูดว่า 'จักทำงานจ้างแล้วเลี้ยงภิกษุสักรูปหนึ่ง."
ฝ่ายภรรยาของเศรษฐี เห็นภรรยาของมหาทุคตะนั้นแล้ว ก็
ถามว่า " แม่ เจ้าจักทำงานอะไร ? เมื่อนางตอบว่า "แล้วแต่จะใช้

ดิฉันให้ทำ" จึงให้เข้าไปสู่โรงกระเดื่องแล้ว ให้มอบเครื่องมือมีกระด้ง
และสากเป็นต้นให้แล้ว. นางยินดีร่าเริง ทั้งตำและฝัดข้าวเหมือนจะ
รำละคร.
ลำดับนั้น ภรรยาเศรษฐีถามนางว่า "แม่ เจ้ายินดีร่าเริงทำงาน
เหลือเกิน. มีเหตุอะไรหรือ ?"
นาง. คุณนาย พวกดิฉันทำงานจ้างนี้แล้ว จักเลี้ยงภิกษุสักรูป
หนึ่ง.
ฝ่ายภรรยาเศรษฐี ฟังคำนั้นแล้ว เลื่อมใสในนางว่า "น่าเลื่อมใส
นางนี้ทำกรรมที่ทำได้ยาก."
ในเวลาที่มหาทุคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีสั่งให้ให้ข้าวสาลี 4
ทะนาน ด้วยพูดว่า "นี้ค่าจ้างของเธอ" แล้วสั่งให้ให้แม้อีก 4 ทะนาน
ด้วยพูดว่า "นี้เป็นส่วนที่เพิ่มให้เพราะความยินดีแก่เธอ."
เขาไปสู่เรือน บอกกะภรรยาว่า " ฉันรับจ้างได้ข้าวสาลีมา, ส่วนนี้
จักเป็นกับ. เจ้าจงถือเอาของ คือ นมส้ม น้ำมัน และเครื่องเทศ
ด้วยค่าจ้าง ( แรงงาน ) ที่เจ้าได้แล้ว."
ฝ่ายภรรยาเศรษฐี สั่งให้จ่ายเนยใสขวดหนึ่ง นมส้มกระปุกหนึ่ง
เครื่องเทศหนึ่ง และข้าวสารสาลีอย่างเป็นตัวทะนานหนึ่งแก่นาง. เขา
ทั้งสองได้มีข้าวสารรวม 5 ทะนาน ด้วยประการฉะนี้.
ทั้งสองผัวเมียยินดีร่าเริงว่า "เราได้ไทยธรรมแล้ว" ลุกขึ้นแต่
เช้าตรู่. ภรรยาพูดกับมหาทุคตะว่า "ไปหาผักมาซิ นาย" เขาไม่
เห็นผักในร้านตลาด จึงไปฝั่งแม่น้ำ มีใจร่าเริงว่า " จักได้ถวายโภชนะ
แก่พระผู้เป็นเจ้า " ร้องเพลงพลาง เลือกเก็บผักพลาง. ชาวประมงยืน

ทอดแหใหญ่อยู่ รู้ว่า " เป็นเสียงของมหาทุคตะ" จึงเรียกเขามาถาม
ว่า " แกมีจิตยินดีเหลือเกิน ร้องเพลงอยู่, มีเหตุอะไรหรือ ?"
มหาทุคตะ. เก็บผัก เพื่อน.
ชาวประมง. จักทำอะไรกัน ?
มหาทุคตะ. จักเลี้ยงภิกษุสักรูปหนึ่ง.
ชาวประมง. โอ ! อิ่มละ ภิกษุที่ฉันผักของแก.
มหาทุคตะ. จะทำอย่างไรได้ ? เพื่อน, กันต้องเลี้ยงภิกษุด้วย
ผักที่กันได้.
ชาวประมง. ถ้าอย่างนั้น มานี่เถิด.
มหาทุคตะ. จะทำอย่างไร ? เพื่อน.
ชาวประมง. จงถือเอาปลาเหล่านี้ ร้อยให้เป็นพวง มีราคาบาทหนึ่ง
บ้าง กึ่งบาทบ้าง กหาปณะหนึ่งบ้าง. เขาได้กระทำอย่างนั้น.
ชาวเมืองซื้อปลาที่มหาทุคตะร้อยไว้ ๆ ไป เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ
ที่ตนนิมนต์แล้ว ๆ. เมื่อเขากำลังร้อยปลาอยู่นั้นแล, ก็ถึงเวลาภิกขาจาร
แล้ว. เขากำหนดเวลาแล้ว กล่าวว่า " จักต้องไป เพื่อน, นี้ เป็น
เวลาที่ภิกษุมา."
ชาวประมง. ก็พวงปลายังมีอยู่ไหม ?
มหาทุคตะ. ไม่มี เพื่อน, หมดสิ้นแล้ว.
ชาวประมง. " ถ้าอย่างนั้น ปลาตะเพียน 4 ตัว ข้าหมกทรายไว้
เพื่อประโยชน์แก่ตน, แม้ถ้าแกต้องการจะเลี้ยงภิกษุ, จงเอาปลาเหล่านี้
ไปเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ได้ให้ปลาตะเพียนเหล่านั้นแก่เขาไป.

มหาทุคตะได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า


ก็วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรง
เห็นมหาทุคตะ เข้าไปในภายในข่ายคือพระญาณของพระองค์ ทรงรำพึง
ว่า " จักมีเหตุอะไรหนอ ?" ทรงดำริว่า " มหาทุคตะ " คิดว่า จักเลี้ยง
ภิกษุรูปหนึ่ง, จึงได้ทำงานจ้างกับภรรยาแล้วในวันวาน, เขาจักได้ภิกษุ
รูปไหนหนอ ?" จึงทรงใคร่ครวญว่า " คนทั้งหลาย จักพาภิกษุไปคาม
ชื่อที่จดไว้ในบัญชีแล้ว ให้นั่งในเรือนของตน ๆ. มหาทุคตะเว้น เรา
เสียแล้ว จักไม่ได้ภิกษุอื่น."
ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงทำความอนุเคราะห์ใน
พวกคนเข็ญใจ. เพราะฉะนั้น พระศาสดาทรงทำสรีรกิจแต่เช้าตรู่แล้ว
เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ประทับนั่ง ด้วยทรงดำริว่า "จักสงเคราะห์มหา-
ทุคตะ." แม้เมื่อมหาทุคตะ กำลังถือปลาเข้าไปสู่เรือน, บัณฑุกัมพล-
ศิลาอาสน์ของท้าวสักกะ แสดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงพิจารณาว่า
" เหตุอะไรกันหนอ ?" ทรงดำริว่า "วานนี้ มหาทุคตะได้ทำงานจ้าง
กับภรรยาของตน ด้วยจงใจว่า 'จักถวายภิกษาแก่ภิกษุสัก 1 รูป' เขา
จักได้ภิกษุรูปไหนหนอ ?" ทรงทราบว่า "ภิกษุอื่นไม่มีสำหรับเขา, แต่
พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันกุฎีนั่นเอง ด้วยตั้งพระทัยว่า 'จัก
สงเคราะห์มหาทุคตะ,' มหาทุคตะ พึงถวายข้าวต้มข้าวสวย และมีผัก
เป็นกับ อย่างที่ตัวบริโภคเองแด่พระตถาคต. ถ้ากระไร เราควรไปยัง
เรือนของมหาทุคตะ ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว" ดังนี้แล้ว จึงทรงจำแลง
เพศมิให้ใครรู้จัก เสด็จไปที่ใกล้เรือนของมหาทุคตะนั้นแล้ว ตรัสถาม
ว่า "ใคร ๆ มีงานจ้างอะไรบ้างหรือ ?" มหาทุคตะเห็นท้าวสักกะแล้ว