เมนู

5. เรื่องบัณฑิตสมเณร [64]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบัณฑิต สามเณร
ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุทกํ หิ นยนฺติ" เป็นต้น.

พระศาสดาตรัสอนุโมทนากถา


ดังได้สดับมา ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป
มีพระขีณาสพ 2 หมื่นรูปเป็นบริวาร ได้เสด็จไปสู่กรุงพาราณสี. มนุษย์
ทั้งหลายกำหนดกำลังของตน ๆ แล้ว รวมกัน 8 คนบ้าง 10 คนบ้าง
ได้ถวายอาคันตุกทานแล้ว.
ต่อมาวันหนึ่ง ในกาลเป็นที่เสร็จภัตกิจ พระศาสดาได้ทรงทำ
อนุโมทนาอย่างนี้ว่า " อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้
คิดว่า ' เราให้ของ ๆ ตนเท่านั้นควร, ประโยชน์อะไรด้วยการชักชวน
คนอื่น' ดังนี้แล้ว จึงให้ทานด้วยตนเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อม
ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ ๆ ตนเกิดแล้ว, บางคนชักชวน
ผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน, เขาย่อมได้บริวารสมบัติไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ ๆ
ตนเกิดแล้ว, บางคนทั้งไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น. เขาย่อม
ไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ เป็นคนกินเดนเป็นอยู่ ในที่ ๆ ตน
เกิดแล้ว; บางคนทั้งให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ
ในที่ ๆ คนเกิดแล้ว."

ผู้เลื่อมใสในอนุโมทนากถา


ชายบัณฑิตผู้หนึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ ได้ฟังอนุโมทนากถานั้นแล้วคิด
ว่า "บัดนี้ เราจักทำอย่างที่สมบัติทั้งสองจักมีแก่เรา." เขาถวายบังคม
พระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า " พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับภิกษาของ
ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. ต้องการภิกษุเท่าไร ?
บัณฑิต. ก็บริวารของพระองค์ มีเท่าไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. มีภิกษุ 2 หมื่นรูป.
บัณฑิต. พระเจ้าข้า พรุ่งนี้ ขอพระองค์กับภิกษุทั้งหมด โปรดทรง
รับภิกษาของข้าพระองค์.
พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว. เขาเข้าไปบ้านแล้ว เดินบอกบุญ
ว่า "แม่และพ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้ ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประมุขไว้ ( เพื่อรับภิกษา). ท่านทั้งหลายจงถวายแก่ภิกษุเท่าจำนวน
ที่สามารถ ( ถวายได้)." เมื่อชนทั้งหลายกำหนดกำลังของตน ๆ แล้ว
กล่าวว่า "พวกเรา จักถวาย 10 รูป, พวกเราจักถวาย 20 รูป, พวกเรา
100 รูป, พวกเรา 500 รูป" ดังนี้แล้ว จึงจดคำของคนทั้งหมดลง
ไว้ในบัญชีตั้งแต่ต้นมา.

ชายเข็ญใจยินดีรับเลี้ยงภิกษุ


ก็ในสมัยนั้น ในกรุงนั้นมีชายคนหนึ่งปรากฏชื่อว่า " มหาทุคตะ"
เพราะความเป็นผู้ยากจนยิ่งนัก. ชายบัณฑิตนั้นเห็นชายเข็ญใจแม้นั้นมา
เฉพาะหน้า จึงบอกว่า "เพื่อนมหาทุคตะ ข้าพเจ้าได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์