เมนู

ไม่ควรทำกรรมที่เดือดร้อนภายหลัง


ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า " แหม !
กรรมของนายมาลาการ น่าอัศจรรย์. เธอสละชีวิตเพื่อพระพุทธเจ้าผู้ยัง
ดำรงพระชนม์อยู่ กระทำการบูชาด้วยดอกไม้แล้ว ได้ของพระราชทาน
ชื่อว่าหมวด 8 ล้วน ในขณะนั้นนั่นเอง." พระศาสดาเสด็จออกจาก
พระคันธกุฎีแล้ว ไปสู่โรงธรรมด้วยการเสด็จไป 3 อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์แล้ว ตรัสถามว่า " ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ ?" เมื่อ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า " ด้วยกถาชื่อนี้," จึงตรัสว่า "อย่างนั้นภิกษุ
ทั้งหลาย ความเดือดร้อนในภายหลังย่อมไม่มี โสมนัสเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น
ในขณะที่ระลึกแล้ว ๆ เพราะบุคคลกระทำกรรมใด, กรรมเห็นปานนั้น
อันบุคคลควรกระทำแท้" เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัส
พระคาถานี้ว่า:-
9. ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
ยสฺส ปตีโต สุมโน วิปากํ ปฏิเสวติ.
"บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนใน
ภายหลัง เป็นผู้เอิบอิ่ม มีใจดี ย่อมเสวยผลของ
กรรมใด, กรรมนั้นแล อันบุคคลทำแล้ว เป็น
กรรมดี."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลกระทำ

กรรมใด คือกรรมที่สามารถเพื่ออันยังสมบัติแห่งเทวดาและสมบัติแห่ง
มนุษย์ และนิพพานสมบัติให้เกิด คือมีสุขเป็นกำไร ย่อมไม่ตาม
เดือดร้อน, โดยที่แท้ บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นผู้เอิบอิ่มแล้วด้วยกำลังแห่ง
ปีติ และชื่อว่ามีใจดีด้วยกำลังแห่งโสมนัส ในขณะที่ระลึกถึง ๆ เป็น
ผู้เกิดปีติและโสมนัสในกาลต่อไป ย่อมเสวยผล ในทิฏฐธรรมนั่นเอง,
กรรมนั้นอันบุคคลกระทำแล้ว เป็นกรรมดี คือเป็นกรรมงาม ได้แก่
สละสลวย.
ในเวลาจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ 8 หมื่น 4 พันแล้ว
ดังนี้แล.
เรื่องนายสุมนมาลาการ จบ.

10. เรื่องพระอุบลวรรณาเถรี [54]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถรี
นามว่าอุบลวรรณา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มธุวา มญฺญตี พาโล"
เป็นต้น.

พระเถรีตั้งความปรารถนา


ดังได้สดับมา พระเถรีนั้น ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ กระทำบุญทั้งหลาย สิ้นแสนกัลป์
ท่องเที่ยวอยู่ ในเทวดาและมนุษย์ จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในสกุล
เศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้. ก็มารดาบิดาได้ตั้งชื่อนาง
ว่า อุบลวรรณนา เพราะนางมีผิวพรรณเหมือนกลีบอุบลเขียว. ต่อมา
ในกาลที่นางเจริญวัยแล้ว พระราชาและเศรษฐีทั้งหลายในสกลชมพู-
ทวีป ส่งบรรณาการไปสู่สำนักของเศรษฐีว่า "ขอเศรษฐีจงให้ธิดา
แก่เรา." ชื่อว่าคนผู้ไม่ส่งบรรณาการไป มิได้มี. ลำดับนั้น เศรษฐี
คิดว่า "เราจักไม่สามารถเอาใจของคนทั้งหมดได้. แต่เราจักทำอุบาย
ลักอย่างหนึ่ง." เศรษฐีนั้นเรียกธิดามาแล้วกล่าวว่า " แม่ เจ้าจักอาจ
เพื่อบวชไหม ? " คำของบิดาได้เป็นเหมือนน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง 100 ครั้ง
อันเขารดลงบนศีรษะ เพราะความที่นางมีภพมีในที่สุด; เพราะฉะนั้น
นางจึงกล่าวกะบิดาว่า "พ่อ ฉันจักบวช." เศรษฐีนั่น ทำสักการะ
เป็นอันมากแก่นางแล้ว นำนางไปสู่สำนักนางภิกษุณี ให้บวชแล้ว.