เมนู

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า จรํ บัณฑิตพึงทราบการเที่ยวไป
ด้วยใจ ไม่เกี่ยวกับการเที่ยวไปด้วยอิริยาบถ. อธิบายว่า เมื่อแสวงหา
กัลยาณมิตร.
บาทพระคาถาว่า เสยฺยํ สทิสมตฺตโน ความว่า ถ้าไม่พึงได้
สหายผู้ยิ่งกว่า หรือผู้แม้กัน ด้วยคุณคือศีล สมาธิ ปัญญาของตน.
บทว่า เอกจริยํ ความว่า ก็ในสหายเหล่านั้น บุคคลเมื่อได้
สหายผู้ดีกว่า ย่อมเจริญด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น, เมื่อได้สหายผู้เช่นกัน
ย่อมไม่เสื่อมจากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น, แต่เมื่ออยู่โดยร่วมกันกับสหาย
ที่เลว ทำการสมโภคและบริโภคโดยความเป็นพวกเดียวกัน ย่อมเสื่อม
จากคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสคำนี้ว่า "บุคคลผู้เห็น
ปานนั้น อันบัณฑิตไม่พึงเสพ ไม่พึงคบ ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้, เว้น ไว้
แต่ความเอ็นดู เว้นไว้แต่ความอนุเคราะห์."
เพราะเหตุนั้น หากบุคคลอาศัยความการุญ คิดว่า " บุคคลนี้
อาศัยเรา จักเจริญด้วยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น" ไม่หวังตอบแทนอยู่ซึ่ง
วัตถุอะไร ? จากบุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมอาจสงเคราะห์บุคคลนั้นได้, การ
อาศัยความการุญ สงเคราะห์ดังนี้นั้นเป็นการดี; ถ้าไม่อาจจะสงเคราะห์
(อย่างนั้น) ได้. พึงทำความเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่น คือว่า ทำความ
เป็นคนโดดเดี่ยวเท่านั้นให้มั่น อยู่แต่ผู้เดียวในอิริยาบถทั้งปวง
ถามว่า " เพราะเหตุอะไร?"
ตอบว่า "เพราะคุณเครื่องเป็นสหาย ย่อมไม่มีในพระชนพาล."

อธิบายว่า จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ 10 ธุดงคคุณ 13
วิปัสสนาคุณ มรรค 4 ผล 4 วิชชา 3 อภิญญา 6 ชื่อว่าคุณเครื่อง
เป็นสหาย, คุณเครื่องเป็นสหายนี้ ย่อมไม่มีเพราะอาศัยคนพาล.
ในกาลจบเทศนา อาคันตุกภิกษุ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ชน
แม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
เทศนาได้เป็นไปกับด้วยประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ จบ.

3. เรื่องอานนทเศรษฐี [47]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอานนท-
เศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุตฺตามตฺถิ ธนมตฺถิ" เป็นต้น.

อานนทเศรษฐีสั่งสอนบุตรให้ตระหนี่


ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี เศรษฐีชื่ออานนท์ มีสมบัติประมาณ
80 โกฏิ (แต่) เป็นคนตระหนี่มาก. อานนท์เศรษฐีนั้น ให้พวกญาติ
ประชุมกันทุกกึ่งเดือนแล้ว กล่าวสอนบุตร (ของตน) ผู้ชื่อว่ามูลสิริ
ใน 3 เวลาอย่างนี้ว่า " เจ้าอย่าได้ทำความสำคัญว่า ' ทรัพย์ 40 โกฏิ
นี้มาก,' เจ้าไม่ควรให้ทรัพย์ที่มีอยู่, ควรยังทรัพย์ใหม่ให้เกิดขึ้น, เพราะ
เมื่อบุคคลทำกหาปณะแม้หนึ่ง ๆ ให้เสื่อมไป ทรัพย์ย่อมสิ้นด้วยเหมือนกัน;
เพราะเหตุนั้น
บุคคลผู้ฉลาด พึงเห็นความสิ้นแห่งยาสำหรับ
หยอด (ตา) ความก่อขึ้นแห่งตัวปลวกทั้งหลาย
และการประมวลมาแห่งตัวผึ้งทั้งหลาย พึงอยู่ครอง-
เรือน.

อานนท์เศรษฐีตายไปเกิดในตระกูลคนจัณฑาล


โดยสมัยอื่นอีก อานนท์เศรษฐีนั้นไม่บอกขุมทรัพย์ใหญ่ 5 แห่ง
ของตนแก่บุตร อาศัยทรัพย์ มีความหม่นหมองเพราะมลทิน คือความ