เมนู

ภิกษุ. รักษาอะไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา ตรัสว่า " เธอจงรักษาจิตของเธอนั่นแหละ ธรรมดา
จิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก, เธอจงข่มจิตของเธอไว้ให้ได้ อย่าคิดถึงอารมณ์
อะไร ๆ อย่างอื่น, ธรรมดาจิตอันบุคคลข่มได้ยาก" ดังนี้แล้วจึงตรัส
พระคาถานี้ว่า
2. ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ.
"การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมดาเร็ว
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี (เพราะ
ว่า ) จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.


แก้อรรถ


บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ในพระคาถานั้น (ดังต่อไปนี้). ธรรมดา
จิตนี้ อันบุคคลย่อมข่มได้โดยยาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทุนฺนิคฺคหํ.
จิตนี้ย่อมเกิดและดับเร็ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ลหุ ซึ่งจิต
อันข่มได้ยาก อันเกิดและดับเร็วนั้น.
บาทพระคาถาว่า ยตฺถ กามนิปาติโน ความว่า มักตกไปใน
อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนั่นแล. จริงอยู่ จิตนี้ ย่อมไม่รู้จักฐานะอันตน
ควรได้ หรือฐานะอันไม่ควรได้, ฐานะอันสมควรหรือฐานะอันไม่สมควร
ย่อมไม่พิจารณาดูชาติ ไม่พิจารณาดูโคตร ไม่พิจารณาดูวัย; ย่อมตกไป
ในอารมณ์ที่ตนปรารถนาอย่างเดียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า " มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่."
การฝึกจิตเห็นปานนี้นั้น เป็นการดี คือความที่จิตอันบุคคลฝึกฝน
ด้วยอริยมรรค1 4 ได้แก่ ความที่จิตอันบุคคลทำแล้วโดยประการที่จิตสิ้น
พยศได้ เป็นการดี.
ถามว่า " เพราะเหตุไร ? "
แก้ว่า " เพราะว่า จิตนี้อันบุคคลฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมา
ให้ คือว่า จิตที่บุคคลฝึกแล้ว ได้แก่ทำให้สิ้นพยศ ย่อมนำมาซึ่งความ
สุขอันเกิดแต่มรรคผล และสุขคือพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์."
ในกาลจบเทศนา บริษัทที่มาประชุมกันเป็นอันมาก ได้เป็นอริย-
บุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น, เทศนาสำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ภิกษุนั้นกลับไปสู่มาติกคามอีก


พระศาสดาครั้นประทานโอวาทนี้แก่ภิกษุนั้นแล้ว จึงทรงส่งไปด้วย
พระดำรัสว่า " ไปเถิด ภิกษุ เธออย่าคิดอะไรๆ อย่างอื่น จง
อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ." ภิกษุนั้นได้พระโอวาทจากสำนักของพระศาสดา
แล้ว จึงได้ไป (อยู่ ) ในที่นั้น, ไม่ได้คิดอะไร ๆ ที่ชวนให้คิด
ภายนอกเลย.
ฝ่ายมหาอุบาสิกา เมื่อตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระเถระแล้ว
กำหนด (รู้) ด้วยญาณของตนนั่นแลว่า " บัดนี้ ภิกษุผู้บุตรของเรา
ได้อาจารย์ให้โอวาทแล้วจึงกลับมาอีก " แล้วได้จัดแจงอาหารอันเป็นที่
สบายถวายแก่พระเถระนั้น.

1. อริยมรรค 4 คือ โสดาปัตติมรรค 1 สกทาคามิมรรค 1 อนาคามิมรรค 1 อรหัต-
มรรค 1