เมนู

อรรถกถาเมตตสูตร


ประโยชน์ของการตั้งสูตร


บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความของเมตตสูตร ซึ่งยกตั้งไว้ในลำดับ
ต่อจากนิธิกัณฑสูตร. ในที่นี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์ของการตั้งเมตตสูตรนั้น
แล้ว ต่อจากนั้น พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านั้นว่า เมตตสูตรนั้นผู้ใดกล่าว กล่าว
เมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ชำระนิทานแล้วจึงจักทำการพรรณนา
ความของเมตตสูตรนั้น.
ในเมตตสูตรนั้น เพราะเหตุที่ตรัสบุญสัมปทามีทาน ศีลเป็นต้นด้วย
นิธิกัณฑสูตร. เมื่อบุคคลทำเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย บุญสัมปทานั้น ย่อมมีผล
มาก จนถึงสามารถให้บรรลุพุทธภูมิได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรขึ้น
ตั้งในที่นี้ เพื่อแสดงว่าเมตตาเป็นอุปการะแก่บุญสัมปทานั้น หรือเพราะเหตุ
ข้าพเจ้าครั้นแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะ. ด้วยทวัตติงสาการ สำหรับ
ชนทั้งหลาย ผู้นับถือพระศาสนาด้วยสรณะแล้วตั้งอยู่ในศีลด้วยสิกขาบททั้ง
หลาย และสามารถละโมหะด้วยกุมารปัญหา จึงแสดงว่าความประพฤติสรณะ
เป็นต้นนั้น เป็นมงคลและรักษาตนเองด้วยมงคลสูตร แสดงการรักษาผู้อื่นอัน
เหมาะแก่มงคลนั้นด้วยรัตนสูตร แสดงการเห็นภูตบางพวกในบรรดาภูต
ทั้งหลายที่กล่าวไว้ในรัตนสูตร และความวิบัติของเหล่าชนที่ประมาทในบุญ
สมบัติ ดังที่กล่าวแล้ว ด้วยติโรกุฑฑสูตร และแสดงสมบัติอันเป็นปฏิปักษ์
ต่อวิบัติที่กล่าวไว้ในติโรกุฑฑสูตร ด้วยนิธิกัณฑสูตร แต่ยังมิได้แสดงกรรม-
ฐานที่สามารถละโทสะ ฉะนั้น เพื่อแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะนั้น
ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรนี้ขึ้นตั้งในที่นี้. เมื่อเป็นดังนั้น ขุททกปาฐะ จึงย่อมจะ

บริบูรณ์ด้วยดี ข้อที่กล่าวมาดังนี้ เป็นประโยชน์แห่งการตั้งเมตตสูตรนั้นไว้
ในที่นี้.

การชำระนิทาน


บัดนี้ ข้าพเจ้ายกมาติกาหัวข้อนี้ใดไว้ว่า
พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้ว่า เมตตสูตรนี้ผู้ใด
กล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุ
ใด ข้าพเจ้าชำระนิทานแล้วจึงจักทำการพรรณนาความ
แห่งเมตตสูตรนั้น
ดังนี้.
ในมาติกาหัวอันนี้ พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านั้นและการชำระนิทาน
โดยสังเขปอย่างนี้ก่อนว่า เมตตสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส
พระสาวกเป็นต้น มิได้กล่าว. ก็แต่ว่า เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายถูกเทวดาทั้งหลาย
รบกวนข้างภูเขาหิมวันต์ จึงพากันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อนั้น พระผู้มี
พระภาคเจ้าจึงตรัสเมตตสูตรนั้น เพื่อป้องกันและเพื่อเป็นกรรมฐานสำหรับ
ภิกษุเหล่านั้น.
ส่วนโดยพิศดาร พึงทราบอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง ใกล้ดิถีเข้าจำพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุง
สาวัตถี. สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจากชาวเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก รับกรรมฐาน
ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประสงค์จะเข้าจำพรรษาใน ที่นั้น ๆ จึงเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยินว่าสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกรรมฐาน
ทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน 84,000 ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรม-
ฐาน 11 อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต,
กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น 4 อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐาน