เมนู

9. ปัพพชิตสูตร


ว่าด้วยจิตของบรรพชิตที่ได้รับการอบรมดีแล้ว
ย่อมได้รับผล 2 อย่าง


[59] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึง
ศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของพวกเราจักเป็นจิตได้รับอบรมแล้วด้วยสิ่งสมควร
แก่บรรพชา อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ตรึงจิตตั้งอยู่ จิต
ของพวกเราจักเป็นจิตได้รับอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญา จิตของพวกเรา
จักเป็นจิตได้รับอบรมแล้วด้วยอนัตตสัญญา จิตของพวกเราจักเป็นจิตได้
รับอบรมแล้วด้วยอสุภสัญญา จิตของพวกเราจักเป็นจิตได้รับอบรมแล้ว
ด้วยอาทีนวสัญญา จิตของพวกเราจักเป็นจิตรู้ความประพฤติชอบ และ
ความประพฤติไม่ชอบของสัตวโลกแล้ว ได้รับอบรมด้วยสัญญานั้น จิต
ของพวกเราจักเป็นจิตรู้ความเจริญและความเสื่อมของสัตวโลกแล้ว ได้รับ
อบรมด้วยสัญญานั้น จิตของพวกเราจักเป็นจิตรู้ความเกิดและความดับ
แห่งสังขารโลกแล้วได้รับอบรมด้วยสัญญานั้น จิตของพวกเราจักเป็นจิต
ได้รับอบรมแล้วด้วยปหานสัญญา จิตของพวกเราจักเป็นจิตได้รับอบรม
แล้วด้วยวิราคสัญญา จิตของพวกเราจักเป็นจิตได้รับอบรมแล้วด้วยนิโรธ-
สัญญา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล จิตของภิกษุเป็นจิตได้รับอบรมแล้ว
ด้วยสิ่งสมควรแก่บรรพชา อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วย่อมไม่รัดรึง
จิตตั้งอยู่ จิตได้รับอบรมแล้วด้วยอนิจจสัญญา จิตได้รับอบรมแล้วด้วย
อนัตตสัญญา จิตได้รับอบรมแล้วด้วยอสุภสัญญา จิตได้รับอบรมแล้วด้วย
อาทีนวสัญญา จิตรู้ความพระพฤติชอบและความประพฤติไม่ชอบของสัตว-

โลกแล้ว ได้รับอบรมแล้วด้วยสัญญานั้น จิตรู้ความเจริญและความเสื่อม
ของสัตวโลกแล้ว ได้รับอบรมแล้วด้วยสัญญานั้น จิตรู้ความเกิดและความ
ดับแห่งสังขารโลกแล้ว ได้รับอบรมแล้วด้วยสัญญานั้น จิตได้รับอบรม
ด้วยปหานสัญญา จิตได้รับอบรมด้วยวิราคสัญญา และจิตได้รับอบรมด้วย
นิโรธสัญญา เมื่อนั้น ภิกษุนั้นพึงหวังผลได้ 2 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ อริหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ เป็นพระอนา-
คามี.
จบปัพพชิตสูตรที่ 9

อรรถกถาปัพพชิตสูตรที่ 9


ปัพพชิตสูตรที่ 9

พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ตสฺมา แปลว่า เพราะเหตุที่ประโยชน์แห่งสามัญญผล
[คุณเครื่องเป็นสมณะ] ไม่ถึงพร้อมแก่ผู้ที่มีจิตมิได้สร้างสมอย่างนี้ ฉะนั้น.
บทว่า ยถาปพฺพชฺชา ปริจิตญฺจ โน จิตฺตํ ภวิสฺสติ. ความว่า สร้างสม
มาโดยสมควรแก่การบวช จริงอยู่ คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่าบวช
คนเหล่านั้นทั้งหมด ก็ปรารถนาพระอรหัต เพราะฉะนั้น จิตใดเขา
สร้างสมอบรมมาเพื่อประโยชน์แก่การบรรลุพระอรหัต จิตนั้นพึงทราบ
ว่า ชื่อว่าสร้างสมมาโดยสมควรแก่การบวช. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
จิตของเราจักเป็นเช่นนี้. บทว่า โลกสฺส สมญฺจ วิสมญฺจ ได้แก่
สุจริตและทุจริตของสัตวโลก. บทว่า โลกสฺส สนฺภวญฺจ วิภวญฺจ ได้แก่
ความเจริญและความเสื่อมของสัตวโลกนั้น อีกนัยหนึ่ง สมบัติและวิบัติ.