เมนู

2. นิสสยสูตร


ว่าด้วยนิสัยและอุปนิสัย


[206] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า
ผู้ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย ๆ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุ
เพียงไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย พระผู้มี-
พระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ถ้าภิกษุอาศัยศรัทธาแล้ว ละอกุศล เจริญ
กุศล อกุศลนั้นเป็นอันเธอละได้แล้ว ถ้าอาศัยหิริ... ถ้าอาศัย
โอตตัปปะ.... ถ้าอาศัยวิริยะ.... ถ้าภิกษุอาศัยปัญญาแล้ว ละอกุศล
เจริญกุศล อกุศลนั้นเป็นอันเธอละได้แล้ว ภิกษุใดละอกุศลได้แล้ว
ด้วยปัญญาอันเป็นอริยะ ภิกษุนั้นเป็นอันละอกุศลนั้นแล้ว ละดีแล้ว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม 5 ประการ
นี้แล้ว พึงอบรมอุปนิสัย 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นของอย่างหนึ่ง
พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยที่อาศัย.
จบ นิสสยสูตรที่ 2

อรรถกถานิสสยสูตรที่ 2


นิสสยสูตรที่ 2

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า นิสฺสยสมฺปนฺโน ได้แก่ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
ที่พึ่ง. บทว่า สทฺธํ ได้แก่ ศรัทธาเหตุสำเร็จ. บทว่า วิริยํ ได้แก่
ความเพียรทางกายและทางใจ. บทว่า ยํส ตัดบทเป็น ยํ อสฺส.
บทว่า อริยาย ปญฺญาย ได้แก่ มรรคปัญญากับวิปัสสนา. บทว่า
สงฺขาย ได้แก่ รู้แล้ว. บทว่า เอกํ ปฏิเสวติ ได้แก่ ย่อมเสพของที่
ควรเสพ. บทว่า อธิวาเสติ ได้แก่ ย่อมอดกลั้นของที่ควรอดกลั้น.
บทว่า ปริวชฺเชติ ได้แก่ ย่อมเว้นของที่ควรเว้น. บทว่า วิโนเทติ
ได้แก่ ย่อมนำของที่ควรนำออกไป. บทว่า เอวํ โข ภิกฺขุ ความว่า
ดูก่อนภิกษุ ด้วยเหตุอย่างนี้แล ภิกษุทำการเสพให้เข้าใจตลอด
ประจักษ์ชัดดีได้ก็ด้วยอำนาจการเรียนและการสอบถาม. และ
ด้วยอำนาจการกำหนดธรรม เสพ อดกลั้น เว้น และบรรเทาอยู่
ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยที่พึ่ง ด้วยประการฉะนี้.
จบ อรรถกถานิสสยสูตรที่ 2