เมนู

อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต


ปัณณาสก์


สัมโพธวรรคที่ 1


1. สัมโพธิสูตร


ว่าด้วยเหตุเจริญแห่งโพธิปักขิยธรรม


[205] ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก
พึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นเหตุ ให้ธรรม
อันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถาม
อย่างนี้แล้วพึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่าอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้า-
พระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญ-

เดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อะไร
เป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอ
ทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีมิตร มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ
ข้อที่ 1 ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย
นี้เป็นเหตุข้อที่ 2 ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดย
ไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเห็นปานนี้ อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส
เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา
อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา
วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ
ข้อที่ 3 ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม
เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น
มั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น
ข้อที่ 4 ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา
เครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรก

กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ
ข้อที่ 5 ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้
ได้คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล จักสำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.
จักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่ง
กถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ
อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา
สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา.
จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความ
ถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอด
ธุระในกุศลธรรม.
จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา
เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม 5
ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม 4 ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ พึงเจริญ
อสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท พึงเจริญ
อานาปานสติเพื่อเข้าไปตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอน
อัสมิมานะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุ

ผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอน
เสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว.
จบ สัมโพธิสูตรที่ 1

มโนรถปูรณี


อรรถกถาอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต


สัมโพธวรรควรรณนาที่ 1


อรรถกถาสัมโพธิสูตรที่ 1


สัมโพธวรรคที่ 1 แห่งนวกนิบาต

สัมโพธิสูตรที่ 1 มีวินิจฉัย
ดังต่อไปนี้.
บทว่า สมฺโพธิกานํ ได้แก่ เจริญในฝ่ายแห่งธรรมเครื่อง
ตรัสรู้กล่าวคือ มรรค 4 อธิบายว่า เป็นอุปการะ ย่อมถามมุ่งถึง
ธรรม 9 ประการ ซึ่งมาแล้วในบาลี. บทว่า กา อุปนิสา ได้แก่
อะไรเป็นเหตุคือเป็นปัจจัย. กถาชื่อว่า อภิสลฺเลขิกา เพราะย่อม
ขัดเกลากิเลส. ชื่อว่า เจโตวิวรณสปฺปยา เพราะเป็นที่สบายและ
มีอุปการะในการเปิดจิตด้วยสมณะและวิปัสสนา. ถ้อยคำที่เป็นไป
ปรารภถึงความมักน้อย ชื่อว่าอัปปิจฉกถา แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้
เหมือนกัน.