เมนู

อรรถกถาจุนทิสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในจุนทิสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปญฺจหิ รถสเตหิ ความว่า เจ้าหญิงจุนทีเสวยพระกระยาหาร
เช้าแล้ว เสด็จเข้าเฝ้าพระชนก ให้จัดรถ 500 คัน มีรถเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว.
บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เจ้าหญิงจุนที ดำริว่า เราจักทูลถามข้อสนทนา
ปัญหาที่เราให้เป็นไปกับพระเชษฐภาดา [เจ้าชายจุนทะ] ดังนี้ ถือของหอม
ดอกไม้และจุณเป็นต้น แล้วจึงเข้าไปเฝ้า. บทว่า อเทว โส โหติ ได้แก่
เมื่อใดผู้นั้น. อีกอย่างหนึ่ง ผู้นั้นใด. บทว่า อริยกนฺตานิ สีลานิ ได้แก่
สีลสัมปยุตด้วยมรรคและผล. ก็ศีลเหล่านั้นเป็นศีลอันน่าใคร่ของพระอริยะ
ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ละแม้ในภพอื่น. บทที่เหลือพึงทราบแม้โดยนัย
ที่ท่านกล่าวไว้แล้วในอัคคัปปสาทสูตรจตุกนิบาต.
จบอรรถกถาจุนทิสูตรที่ 2

3. อุคคหสูตร


ว่าด้วยหน้าที่ของภรรยาที่ดี


[33] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ชาติยาวัน
ใกล้เมืองภัททิยะ ครั้งนั้นแล ท่านอุคคหเศรษฐีผู้เป็นหลานท่านเมณฑก-
เศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ
ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ 3 รูปจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์

ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท่านอุคคหเศรษฐี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคม
ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่าน
อุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ครั้งนั้น ท่านอุคคหเศรษฐี
หลานของเมณฑกเศรษฐี ได้อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าให้อิ่มหนำสำราญ ด้วย
ขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารีเหล่านี้ของข้า-
พระองค์ จักไปอยู่สกุลสามี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวสอน ทรงพร่ำ
สอนกุมารีเหล่านั้น ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์สุขแก่กุมารีเหล่านั้นตลอดกาลนาน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นต่อไปดังนี้ว่า ดูก่อน
กุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของ
สามีที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู
เราทั้งหลายจักตื่นก่อนท่านนอนที่หลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติ
เป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน
ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
ว่า ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์
เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ก็จักต้อนรับ
ด้วยที่นั่งหรือน้ำ ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า การงานภายในบ้านของ
สามี คือ การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน
ในการงานนั้น ๆ จักประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงาน

นั้น ๆ อาจทำ อาจจัด ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงาน
ที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกรทำแล้ว ว่าทำ
แล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง
และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
ว่า เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองที่สามีหามาได้ให้คงอยู่
ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็น
นักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา
อย่างนี้แล ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ
นี้แล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดาเหล่ามนาปกายิกา.
สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่น
สามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์
เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนา
ทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประ-
พฤติแสดงความหึงหวงสามี และย่อมบูชา
ผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่
เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของ
สามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษา
ทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติ
ตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้น
ย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาเหล่ามนาปกา-
ยิกา.

จบอุคคหสูตรที่ 3

อรรถกถาอุคคหสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในอุคคหสูตรที่ 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ภทฺทิเก แปลว่า ใกล้ภัททิกนคร.* บทว่า ชาติยาวเน
ได้แก่ ในป่าชัฏที่เกิดขึ้นเองเขามิได้ปลูกแล้ว เป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์.
อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าไปอาศัยนครนั้น ประทับอยู่ในป่านั้น.
บทว่า อตฺตจตุตฺโถ ได้แก่ มีพระองค์เป็นที่ 4.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อุคคหเศรษฐีหลานชายเมณฑกเศรษฐีนั้น
จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระองค์เป็นที่ 4 มีภิกษุไปด้วย 3 รูป เล่า ?
ตอบว่า ได้ยินว่า ในเรือนของท่านเศรษฐีนั้น ได้มีงานมงคลใหญ่ ด้วยการ
จัดงานใหญ่ ผู้คนเป็นอันมากก็มาชุมนุมกันในเรือนนั้น ท่านคิดว่า ผู้อังคาส
เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ คงจักสงเคราะห์ยึดใจผู้คนเหล่านั้นได้ยาก จึงนิมนต์
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ 4 เท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ท่านมีความดำริ
อย่างนี้ว่า เมื่อพระศาสดาทรงโอวาทอยู่กลางภิกษุหมู่ใหญ่ สาวรุ่นทั้งหลาย
มัวแต่ดูเสีย ก็ไม่สามารถจะรับเอาพระโอวาทได้. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ท่าน
จึงนิมนต์เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ 4 เท่านั้น.
บทว่า โอวทตุ ตาสํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดโอวาท คือ สั่งสอนสาวรุ่นเหล่านั้น. ที่จริง คำว่า
ตาสํ เป็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ. บทว่า ยํ ตาสํ ได้แก่
โอวาทานุศาสน์สำหรับสาวรุ่นเหล่านั้น. ก็แลท่านเศรษฐีนั้น ครั้นกราบทูล
แล้วอย่างนี้ คิดว่า สาวรุ่นเหล่านี้เมื่อได้รับโอวาทในสำนักของเรา พึงให้นำ
ไปสกุลสามี ดังนี้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็หลีกไป.
* บาลีเป็น ภัททิยนคร