เมนู

7. เขมสุมนสูตร


ว่าด้วยผู้หมดมานะ


[320] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่าน
พระเขมะและท่านพระสุมนะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย
บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระเขมะได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุ
ประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้
โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า คนที่ดีกว่าเรามีอยู่ คนที่
เสมอเรามีอยู่ หรือคนที่เลวกว่าเรามีอยู่ ท่านพระเขมะได้กราบทูลดังนี้แล้ว
พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้นแล ท่านพระเขมะทราบว่า พระศาสดา
ทรงพอพระทัยเรา จึงลุกจากอาสนะถวายบังคม ทำประทักษิณพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าแล้วหลีกไป ครั้นเมื่อท่านเขมะหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระสุมนะได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว
บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้
โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า คนที่ดีกว่าเราไม่มี คนที่
เสมอเราไม่มี หรือคนที่เลวกว่าเราไม่มี ท่านพระสุมนะได้กราบทูลดังนี้แล้ว
พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้นแล ท่านพระสุมนะทราบว่าพระศาสดาทรง
พอพระทัยเรา จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้า

แล้วหลีกไป ครั้นเมื่อท่านเขมะและท่านพระสุมนะหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มี-
พระภาคเจ้าได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลาย
ย่อมพยากรณ์อรหัตผลอย่างนี้แล กล่าวแต่เนื้อความ และไม่น้อมตนเข้าไป
ส่วนว่าโมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ เหมือนจะร่าเริงพยากรณ์อรหัตผล
เขาเหล่านั้นย่อมถึงความทุกข์ในภายหลัง.
พระขีณาสพทั้งหลาย ไม่น้อมตน
เข้าไปเปรียบบุคคลที่ดีกว่า ไม่น้อมตน
เข้าไปเปรียบบุคคลที่เลวกว่า ไม่น้อมตน
เข้าไปเปรียบบุคคลที่เสมอกัน มีชาติสิ้น
แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ประพฤติ
เป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์.

จบเขมสุมนสูตรที่ 7

อรรถกถาเขมสุมนสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในเขมสุมนสูตรที่ 7 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า วุสิตวา ได้แก่ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว. บทว่า กตกรณีโย
ได้แก่ ผู้ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค 4 แล้วอยู่. บทว่า โอหิตภาโร ได้แก่
ผู้ปลงขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระลงแล้วอยู่.
บทว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ ความว่า พระอรหัตเรียกว่า ประโยชน์
ของตน ผู้บรรลุประโยชน์ของตนนั้น. บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน ความว่า
ผู้มีกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว. บทว่า สมฺมทญฺญา วิมุตฺโต
ความว่า หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ คือ โดยเหตุ โดยการณะ.