เมนู

อรรถกถาทานสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในทานสูตรที่ 7 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เวฬุกณฺฏกี ได้แก่ เป็นชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ. บทว่า
ฉฬงฺคสมนฺนาคตํ ความว่า ประกอบไปด้วยองค์คุณ 6 ประการ. บทว่า
ทกฺขิณํ ปติฏฐาเปติ ความว่า ถวายทาน. บทว่า ปุพฺเพว ทานา สุมโน
ความว่า เป็นผู้ถึงความโสมนัสตั้งเดือนหนึ่งว่า เราจักถวายทาน. อธิบายว่า
บุรพเจตนา ในคำว่า ปุพฺเพว ทานา สฺมโน นี้ ย่อมมีแก่ผู้เริ่มต้นทำนา
โดยคิดอยู่ว่า เราจักถวายทานด้วยข้าวกล้าที่เกิดจากนานี้ จำเดิมแต่กาลที่เกิด
ความคิดขึ้นว่า เราจักถวายทาน. ส่วนมุญจนเจตนา (ความตั้งใจสละ)
ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เมื่อให้ ย่อมยังจิตให้ผ่องใสดังนี้ ย่อมมีได้ในเวลาให้ทาน
เท่านั้น แต่อปรเจตนานี้ ว่า ครั้นให้แล้ว ก็มีจิตปราบปลื้ม ดังนี้ ย่อมมีแก่
ผู้ระลึกถึงในภายหลัง ในกาลต่อ ๆ มา.
บทว่า วีตราคา ได้แก่ พระขีณาสพผู้ปราศจากราคะ. บทว่า
ราควินยาย วา ปฏิปนฺนา ความว่า ดำเนินปฏิปทา ที่เป็นเหตุนำราคะ
ออกไป. และเทศนานี้ เป็นเทศนาอย่างอุกฤษฏ์ แต่มิใช่สำหรับพระขีณาสพ
อย่างเดียวเท่านั้น แม้พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน โดยที่สุด
แม้สามเณรผู้ถือภัณฑะบวชแล้วในวันนั้น ทักษิณาที่ถวายแล้วย่อมชื่อว่าประกอบ
ไปด้วยองค์ 6 ทั้งนั้น. เพราะว่า แม้สามเณรก็บวชเพื่อโสดาปัตติมรรค
เหมือนกัน.
ความบริบูรณ์แห่งทาน ชื่อว่า ยัญสัมปทา. บทว่า สญฺญตา
ความว่า สำรวมแล้ว ด้วยความสำรวมคือศีล. บทว่า สยํ อาจมยิตฺวาน

ความว่า ตนเองล้างมือ ล้างเท้า แล้วล้างหน้า. บทว่า สเกหิ ปาณิภิ
ความว่า ด้วยมือของตน. ปาฐะเป็น สเยหิ ก็มี. บทว่า สทฺโธ ได้แก่
เชื่อคุณพระรัตนตรัย. บทว่า มุตฺเตน เจตสา ความว่า มีจิตหลุดพ้นจาก
ความตระหนี่ในลาภเป็นต้น. บทว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ ได้แก่
เทวโลกที่ปราศจากทุกข์มีแต่สุขและโสมนัสอันโอฬาร.
จบอรรถกถาทานสูตรที่ 7

8. อัตตการีสูตร


ว่าด้วยการทำเพื่อตนและเพื่อคนอื่น


[309] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้
ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราอย่าได้เห็นหรือได้ฟังของบุคคลผู้กล่าวว่า
เรามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ ก็บุคคลเมื่อก้าวไปเองได้ ถอยกลับเองได้
ไฉนเล่าจักกล่าวอย่างนี้ว่า การทำเพื่อตนไม่มี การทำเพื่อผู้อื่นไม่มี ดูก่อน
พราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อารัพภธาตุ (ความเพียรเป็น
เหตุปรารภ) มีอยู่หรือ.
พราหมณ์. อย่างนั้น ท่านพระโคดม.
พ. เมื่ออารัพภธาตุมีอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความปรารภย่อมปรากฏหรือ.