เมนู

อรรถกถาปฐมสมยสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสูตรที่ 7 ดังต่อไปนี้ :-
ในบทว่า มโนภาวนียสฺส นี้ มีวิเคราะห์ว่า ภิกษุชื่อว่า ผู้เจริญ
ภาวนาทางใจ เพราะอบรมใจ คือยังใจให้เจริญ. บทว่า ทสฺสนาย ได้แก่
เพื่อเห็น. บทว่า นิสฺสรณํ ได้แก่ ทางออกคือความสงบระงับ. บทว่า ธมฺมํ
เทเสติ
ความว่า บอกอสุภกัมมัฏฐาน เพื่อต้องการให้ละกามราคะ.
ในทุติยวาร เป็นต้น พึงทราบอธิบายว่า บอกเมตตากัมมัฏฐานเพื่อละ
พยาบาทนิวรณ์ บอกกัมมัฏฐานที่เป็นเหตุบรรเทาถีนมิทธะ คือ อาโลกสัญญา
หรือกัมมัฏฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งวิริยารัมภะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อละ
ถีนมิทธนิวรณ์ แสดงธรรมกล่าวกถาปรารภคุณของพระรัตนตรัย เพื่อละ
วิจิกิจฉานิวรณ์.
บทว่า อาคมฺม แปลว่า ปรารภ. บทว่า มนสิกโรโต ความว่า
ทำไว้ในใจด้วยสามารถให้เป็นอารมณ์. บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย
โหติ ความว่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมี โดยปราศจากอันตราย.
จบอรรถกถาปฐมสมยสูตรที่ 7

8. ทุติยสมยสูตร


ว่าด้วยเวลาเข้าพบผู้เจริญภาวนา 6


[299] สมัยหนึ่ง ภิกษุชั้นเถระหลายรูป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน
ใกล้เมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล เมื่อภิกษุชั้นเถระเหล่านั้นกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่โรงฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างดังนี้ว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญ
ภาวนาทางใจ.
เมื่อกล่าวกันอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงได้กล่าวกะภิกษุชั้นเถระ
ทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจกลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้
เฉพาะหน้า สมัยนั้น ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนา-
ทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต
ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น
แม้ความเหน็ดเหนื่อยเพราะการเที่ยวไปเพื่อการบิณฑบาต แม้ความเหน็ด
เหนื่อยเพราะฉันอาหาร ของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังไม่สงบระงับ
ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่ริมเงาวิหาร
ด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัย
ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ.