เมนู

คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทใด ๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณ-
บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ข้อที่ 3 ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง
คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ 4
ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล
ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ 5
ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของ
คนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล 5 ประการนี้แล.
จบสีลสูตรที่ 3

อรรถกถาสีลสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในสีลสูตรที่ 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ไม่มีศีล คือ ไร้ศีล. บทว่า สีลวิปนฺโน
ได้แก่ มีศีลวิบัติ ขาดสังวรระวัง. บทว่า ปมาทาธิกรณํ ได้แก่ เพราะ
มีความประมาทเป็นเหตุ.
ก็สูตรนี้ ใช้สำหรับคฤหัสถ์. แม้บรรพชิตก็ใช้ได้เหมือนกัน. จริงอยู่
คฤหัสถ์ ย่อมเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ด้วยหลักศิลปะใด ๆ ไม่ว่าทำนา หรือค้าขาย
ถ้าประมาทโดยทำปาณาติบาตเป็นต้น ศิลปะนั้น ๆ ก็ให้สำเร็จผลตามกาลไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็ขาดทุน. และเมื่อทำปาณาติบาต และอทินนาทาน
เป็นต้น ในเวลาที่เขาไม่ทำกัน โทษก็ถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์เป็นอันมาก.
บรรพชิตผู้ทุศีล ย่อมถึงความเสื่อมจากศีล พระพุทธพจน์ ฌาน และจาก

อริยทรัพย์ 7 เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ. สำหรับคฤหัสถ์ชื่อเสียงที่เลว
ย่อมฟุ้งไปท่ามกลางบริษัท 4 ว่า คฤหัสถ์คนโน้น เกิดในตระกูลโน้น เป็น
คนทุศีล มีบาปธรรม สลัดโลกนี้และโลกหน้าเสียแล้ว ไม่ให้ทานแม้แต่อาหาร
ดังนี้. สำหรับบรรพชิตชื่อเสียงที่เสียก็ฟุ้งไปอย่างนี้ว่า บรรพชิตรูปโน้น
รักษาศีลก็ไม่ได้ เรียนพระพุทธพจน์ก็ไม่ได้ เลี้ยงชีพอยู่ด้วยเวชกรรม
เป็นต้น เป็นผู้ประกอบด้วยความไม่เคารพ 6 ดังนี้. บทว่า อวิสารโท
ความว่า คฤหัสถ์ก่อน เขาคิดว่า คนบางคนจักรู้กรรมของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น
คนทั้งหลายจักจับเรา หรือจักแสดงเราแก่ราชตระกูลดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่าง
หวาดกลัว เก้อเขิน คอตก คว่ำหน้า นั่งเอานิ้วหัวแม่มือเขี่ยดิน ไม่กล้าพูด
ในสถานที่ประชุมของคนมาก ๆ แน่แท้. ฝ่ายบรรพชิตคิดว่า ภิกษุประชุมกัน
มาก ๆ ภิกษุบางรูป จักรู้กรรมของเราแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกภิกษุจักห้าม
ทั้งอุโบสถ ทั้งปวารณาแก่เรา ให้เราเคลื่อนจากความเป็นสมณะแล้วจักคร่า
ออกไป ดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่างหวาดกลัว ไม่กล้าพูด. ส่วนบางรูปแม้ทุศีล
ถูกทำลายแล้ว ก็ยังเที่ยวไป บรรพชิตรูปนั้น ชื่อว่าเป็นผู้เก้อ หน้าด้านโดย
อัธยาศัยทีเดียว.
บทว่า สมฺมูฬโห กาลํ กโรติ ความว่า ก็การยึดถือทุศีลกรรม
ประพฤติแล้ว ย่อมปรากฏแก่เธอผู้นอนบนเตียงมรณะ เธอลืมตาขึ้นเห็นโลกนี้
หลับตาก็เห็นโลกหน้า อบาย 4 ย่อมปรากฏแก่เธอ เธอเป็นดุจถูกหอก 100
เล่ม ประหารที่ศีรษะ เขาส่งเสียงร้องมาว่า ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที
ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ก็ตาย ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ.
บทที่ 5 ง่ายทั้งนั้น อานิสงสกถาพึงทราบโดยปริยาย ตรงกันข้ามกับคำที่กล่าว
มาแล้ว.
จบอรรถกถาสีลสูตรที่ 3

4. พหุภาณีสูตร


ว่าด้วยคุณและโทษของการพูด


[214] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ 5 ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูด
มาก 5 ประการเป็นไฉน ? คือ พูดเท็จ 1 พูดส่อเสียด 1 พูดคำหยาบ 1
พูดเพ้อเจ้อ 1 เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก 1 ดูก่อน-
ภิกษุทั้งหลาย โทษ 5 ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดมาก.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ 5 ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอ
ประมาณ 5 ประการเป็นไฉน ? คือ ไม่พูดเท็จ 1 ไม่พูดส่อเสียด 1 ไม่พูด
คำหยาบ 1 ไม่พูดเพ้อเจ้อ 1 เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ 5 ประการนี้แล มีอยู่ในบุคคลผู้พูดพอประมาณ.
จบพหุภาณีสูตรที่ 4

อรรถกถาพหุภาณีสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในพหุภาณีสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า พหุภาณิสฺมึ ได้แก่ ไม่กำหนดไว้ด้วยปัญญาก็พูดมาก.
ปัญญา เรียกว่า มันตา ใน บทว่า มนฺตภาณิสฺมึ ได้แก่ กำหนดด้วยปัญญา
ที่เรียกว่ามันตาแล้วจึงพูด.
จบอรรถกถาพหุภาณีสูตรที่ 4