เมนู

9. คีตสูตร


ว่าด้วยโทษของขับด้วยเสียงยาว


[209] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับ
ที่ยาว 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน ? คือ ตนเองย่อมกำหนัดในเสียง
นั้นบ้าง ผู้อื่นย่อมกำหนัดในเสียงนั้นบ้าง พวกคฤหบดีย่อมยกโทษว่า พวก
สมณศากยบุตรเหล่านี้ย่อมขับเหมือนพวกเราขับบ้าง เมื่อภิกษุพอใจกระทำเสียง
ความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมมีบ้าง ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเป็นแบบอย่างบ้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับที่ยาว 5 ประการ
นี้แล.
จบคีตสูตรที่ 9

อรรถกถาคีตสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในคีตสูตรที่ 9 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อายตเกน ได้แก่ ยาวคือทำให้ระเบียบคาถา [คำร้อยกรอง]
ซึ่งมีบทและพยัญชนะบริบูรณ์เสียไป. บทว่า สรกุตฺติมฺปิ นิกามยมานสฺส
ความว่า เมื่อปรารถนาการแต่งเสียงด้วยคิดว่า เสียงขับเราควรทำอย่างนี้ ดังนี้.
บทว่า สมาธิสฺส ภงฺโค โหติ ความว่า จิตที่ประกอบด้วยสมถะและ
วิปัสสนาก็เสียไป.
จบอรรถกถาคีตสูตรที่ 9

10. มุฏฐัสสติสูตร


ว่าด้วยโทษและคุณของการนอนหลับ


[210] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ
นอนหลับ 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน ? คือ ย่อมหลับเป็นทุกข์ 1
ย่อมตื่นเป็นทุกข์ 1 ย่อมฝันลามก 1 เทวดาย่อมไม่รักษา 1 น้ำอสุจิย่อมเคลื่อน 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ นอนหลับ
5 ประการนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ
นอนหลับ 5 ประการนี้แล 5 ประการเป็นไฉน ? คือ ย่อมหลับเป็นสุข 1
ย่อมตื่นเป็นสุข 1 ย่อมไม่ฝันลามก 1 เทวดาย่อมรักษา 1 น้ำอสุจิย่อมไม่เคลื่อน 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ นอนหลับ
5 ประการนี้แล.
จบมุฏฐัสสติสูตรที่ 10
จบกิมพิลวรรคที่ 1