เมนู

อรรถกถาภเวสิสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในภเวสิสูตรที่ 10 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สิตํ ปาตฺวากาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จ-
พระดำเนินไปตามทางใหญ่ ทรงแลดูป่าสาละนั้น ทรงดำริว่า ในที่นี้จะมีเหตุดี
ไร ๆ เคยเกิดขึ้นแล้วหรือหนอ ก็ได้ทรงเห็นเหตุดีที่อุบาสกชื่อภเวสีได้ทำไว้
แล้ว ในครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ได้มีพระดำริต่อไปว่า เหตุดีนี้ปกปิดไม่ปรากฏ
แก่หมู่ภิกษุ เอาเถิดเราจะทำเหตุนั้นให้ปรากฏแก่หมู่ภิกษุ จึงหลีกออกจากทาง
ประทับยืน ณ ที่แห่งหนึ่ง ได้ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ แสดงไรพระทนต์
น้อย ๆ. พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงพระสรวลเหมือนชาวมนุษย์ในโลก
หัวเราะท้องคัดท้องแข็งว่าที่ไหนที่ไหนดังนี้. การทรงพระสรวลของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลาย ก็เป็นเพียงอาการแย้มเท่านั้น. ชื่อว่าการแย้มนี้ย่อมมีด้วยจิตสหรคต
ด้วยโสมนัส 13 ดวง. ชาวโลกหัวเราะด้วยจิต 8 ดวง คือ จากอกุศล 4 ดวง
จากกามาวจรกุศล 4 ดวง. พระเสกขะทั้งหลายนำจิตสัมปยุตด้วยทิฏฐิ 2 ดวง
ออกจากอกุศลแล้วหัวเราะด้วยจิต 6 ดวง. พระขีณาสพแย้มด้วยจิต 5 ดวง
คือ ด้วยกิริยาจิตที่เป็นสเหตุกะ 4 ดวง ที่เป็นอเหตุกะ 1 ดวง. แม้ในจิต
เหล่านั้น เมื่ออารมณ์มีกำลังปรากฏ พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมแย้มด้วยจิต
สัมปยุตด้วยญาณ 2 ดวง. เมื่ออารมณ์ที่มีกำลังอ่อนปรากฏ พระขีณาสพย่อม
แย้มด้วยจิต 3 ดวง คือ ด้วยทุเหตุกจิต 2 ดวง และด้วยอเหตุกจิต 1 ดวง.
แต่ในที่นี้ จิตสหรคต ด้วยโสมนัส อันเป็นกิริยาเหตุกะ และมโนวิญญาณธาตุ
ทำการพระสรวลสักว่าอาการแย้มให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคจ้า. ก็การแย้ม
นั้นแม้เพียงเล็กน้อยอย่างนี้ก็ได้ปรากฏแก่พระเถระแล้ว. ถามว่า อย่างไร.

ตอบว่า ในกาลเช่นนั้น เกลียวพระรัศมีประมาณเท่าลำตาลใหญ่ รุ่งโรจน์จาก
พระทาฐะ 4 องค์ ของพระตถาคตดุจสายฟ้าแลบจากหน้ามหาเมฆ 4 ทิศ
ผุดขึ้น กระทำประทักษิณรอบพระเศียร 3 ครั้ง แล้วหายไปที่ไรพระทาฐะนั่นเอง
ด้วยสัญญานั้น ท่านพระอานนท์แม้ตามเสด็จไปข้างหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็ย่อมรู้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการแย้มให้ปรากฏ.
บทว่า อิทฺธํ แปลว่า สมบูรณ์. บทว่า ผีตํ ได้แก่ สมบูรณ์ยิ่งนัก
ดุจดอกไม้บานสะพรั่งหมดทั้งแถว. บทว่า อากิณฺณมนุสฺสํ ได้แก่ เกลื่อน-
กลาดไปด้วยหมู่ชน. บทว่า สีเลสุ อปริปูริการี ได้แก่ ไม่ทำความเสมอกัน
ในศีล 5. บทว่า ปฏิเทสิตานิ ได้แก่ แสดงความเป็นอุบาสก. บทว่า
สมาทปิตานิ ความว่า ให้ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย. บทว่า อิจฺเจตํ สมสมํ
ได้แก่ เหตุนั้นเสมอกันด้วยความเสมอโดยอาการทั้งปวง มิได้เสมอโดยเอกเทศ
บางส่วน. บทว่า นตฺถิ กิญฺจิ อติเรกํ ได้แก่ เราไม่มีเหตุดีไร ๆ ที่เกิน
หน้าคนเหล่านี้. บทว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเตือน. บทว่า อติเรกาย
ความว่า เราจะปฏิบัติเพื่อเหตุที่ดียิ่งขึ้นไป. บทว่า สีเลสุ ปริปูรการี
ธาเรถ
ความว่า ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าเราทำความเท่าเทียมกันในศีล 5 แล้ว.
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าภเวสีอุบาสกนั้น ชื่อว่า สมาทานศีล 5 แล้ว.
บทว่า กิมงฺคํ ปน น มยํ ความว่า ก็ด้วยเหตุไรเล่า เราจึงจักไม่เป็นผู้
ทำให้บริบูรณ์ได้ บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.
จบอรรถกถาภเวสิสูตรที่ 10
จบอุปาสกวรรควรรณนาที่ 3

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. สารัชชสูตร 2. วิสารทสูตร 3. นิรยสูตร 4. เวรสูตร
5. จัณฑาลสูตร 6. ปีติสูตร 7. วณิชชสูตร 8. ราชสูตร 9. คิหิสูตร
10. ภเวสิสูตร และอรรถกถา.