เมนู

10. โสตวสูตร


ว่าด้วยองค์คุณของช้างต้นและของภิกษุ


[140] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ 5
ประการ ย่อมควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างทรง ถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ
ทีเดียว องค์ 5 ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชา
ในโลกนี้เป็นสัตว์เชื่อฟัง 1 เป็นสัตว์ฆ่าได้ 1 เป็นสัตว์รักษาได้ 1 เป็นสัตว์
อดทนได้ 1 เป็นสัตว์ไปได้ 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟังอย่างไร คือ ช้าง
ของพระราชาในโลกนี้ ย่อมตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตฟังเหตุการณ์
ที่ควาญช้างให้กระทำ คือ เหตุการณ์ที่เคยกระทำหรือไม่เคยกระทำ ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์เชื่อฟังอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ช้าง
ของพระราชาเป็นสัตว์ฆ่าได้อย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสงคราม
แล้ว ย่อมฆ่าช้างบ้าง ฆ่าควาญช้างบ้าง ฆ่าม้าบ้าง ฆ่าคนขี่ม้าบ้าง ทำลายรถบ้าง
ฆ่าพลรถบ้าง ฆ่าพลเดินเท้าบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็น
สัตว์ฆ่าได้อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้
อย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ เข้าสู่สงครามแล้ว ย่อมรักษากายเบื้อง
หน้า กายเบื้องหลัง เท้าหน้า เท้าหลัง ศีรษะ หู งา งวง หาง ควาญช้าง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์รักษาได้อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้อย่างไร คือ ช้างของพระราชา
ในโลกนี้ เข้าสงครามแล้ว ย่อมอดทนต่อการประหารด้วยหอก ต่อการถูกลูกศร
ต่อการถูกง้าว ต่อเสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ มโหระทึกที่กระหึม ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนได้อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ก็ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้อย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ ย่อมเป็น
สัตว์ไปสู่ทิศที่ควาญช้างไสไป คือ ทิศที่เคยไปหรือทิศที่ยังไม่เคยไปได้โดยเร็ว
พลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไปได้อย่างนี้แล ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ 5 ประการนี้แล ย่อมควร
แก่พระราชา ควรเป็นช้างทรง ถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะทีเดียว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควนแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ
ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม 5
ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เชื่อฟัง 1 เป็นผู้ฆ่าได้ 1
เป็นผู้รักษาได้ 1 เป็นผู้อดทนได้ 1 เป็นผู้ไปได้ 1

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟังอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัย
นี้ ย่อมตั้งใจ ใฝ่ใจ สำรวมใจ เงี่ยโสตลงฟังธรรม ในเมื่อผู้อื่นแสดงธรรมวินัย
ที่ตถาคตประกาศแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เชื่อฟังอย่างนี้แล ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอดกลั้น
ละ บรรเทา กำจัด ทำให้สิ้นไป ให้ถึงซึ่งความไม่มีแห่งกามวิตกที่เกิดขึ้น
แล้ว. . . พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว . . . วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมอดกลั้น
ละ บรรเทา กำจัด ทำให้สิ้นไป ให้ถึงซึ่งความไม่มีแห่งอกุศลธรรมที่ลามก
ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ฆ่าได้อย่างนี้แล ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รักษาได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็น
รูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาป
อกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความ

สำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือโดยนิมิต ย่อมไม่
ถือโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว
พึงเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
เป็นผู้รักษาได้อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนได้อย่างไร คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อดทนได้ต่อเย็น ร้อน หิว ระหาย สัมผัสแห่ง
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้อดทนได้ต่อคำหยาบระคาย
เป็นผู้อดทนได้ต่อทุกขเวทนาทางร่างกายที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันกล้า แข็ง เผ็ดร้อน
ไม่เป็นที่ชื่นใจ ไม่เป็นที่ชอบใจ สามารถปลิดชีพเสียได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเป็นผู้อดทนได้อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ไปได้อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไปสู่ทิศที่ไม่เคยไปตลอดกาลนานนี้ คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่ง
ตัณหา เป็นที่สำรอก เป็นที่ดับหาเครื่องเสียบแทงมิได้ โดยเร็วพลัน ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไปไค้อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แล ย่อม
เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ความแก่ทักขิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.
จบโสตวสูตรที่ 10
จบราชวรรคที่ 4

อรรถกถาโสตวสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในโสตวสูตรที่ 10 ดังต่อไปนี้:-
บทว่า ทุรุตฺตานํ ความว่า ต่อคำหยาบที่เขากล่าวไม่ดี และให้เป็น
ไปด้วยอำนาจโทสะ. บทว่า ทุราคตานํ ความว่า ที่มาสู่โสตทวาร โดย
อาการที่ให้เกิดทุกข์. บทว่า วจนปถานํ ได้แก่ ต่อคำพูดทั้งหลาย. บทว่า
ทุกฺขานํ ได้แก่ ที่ทนได้ยาก. บทว่า ติปฺปานํ ได้แก่ กล้า หรือมีสภาพ
ให้เร่าร้อน. บทว่า ขรานํ ได้แก่ หยาบ. บทว่า กฏุกานํ ได้แก่ แข็ง.
บทว่า อสาตานํ ได้แก่ ไม่ไพเราะ บทว่า อมนาปานํ ได้แก่ ไม่สามารถ
ทำใจให้ดื่มด่ำ คือเจริญใจได้. บทว่า ปาณาหรานํ ได้แก่ คร่าชีวิตเสียได้.
พระนิพพานพึงทราบว่า ชื่อว่า ทิศ ในคำว่า ยา สา ทิสา เพราะปรากฏ
เห็นชัดในธรรมมีธรรมเป็นที่รำงับสังขารทั้งปวงเป็นต้น แต่เพราะเหตุที่สังขาร
ทั้งปวงอาศัยพระนิพพานนั้น จึงถึงความรำงับ ฉะนั้น จึงตรัสเรียกพระ-
นิพพานนั้นว่า ธรรมเป็นที่รำงับสังขารทั้งปวง. คำที่เหลือในที่ทุกแห่งง่าย
ทั้งนั้น. ก็ในสูตรนี้ ตรัสศีล สมาธิ ปัญญา รวมกันแล.
จบอรรถกถาโสตวสูตรที่ 10
จบราชวรรควรรณนาที่ 4

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ


1. จักกสูตร 2. อนุวัตตนสูตร 3. ราชสูตร 4. ยัสสทิสสูตร
5. ปฐมปัตถนาสูตร 6. ทุติยปัตถนาสูตร 7. อัปปสุปติสูตร 8. ภัตตา-
ทกสูตร 9. อักขมสูตร 10. โสตวสูตร และอรรถกถา.