เมนู

5. กุลสูตร


ว่าด้วยเหตุให้ตระกูลตั้งอยู่ไม่ได้นาน


[258] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตระกูลตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่
ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4 หรือสถานใดสถานหนึ่ง
บรรดาสถาน 4 นั้น สถาน 4 เป็นไฉน คือ ไม่เสวงหาพัสดุที่หายแล้ว 1
ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า 1 ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค 1 ตั้งสตรีหรือ
บุรุษทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
ถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4 นี้
หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน 4 นั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ใน
โภคทรัพย์แล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4 หรือสถานใดสถานหนึ่ง
บรรดาสถาน 4 นั้น สถาน 4 เป็นไฉน คือ แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว 1
ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า 1 รู้จักประมาณในการบริโภค 1 ตั้งสตรีหรือบุรุษ
ผู้มีศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง
ถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4 นี้ หรือ
สถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน 4 นั้น .
จบกุลสูตรที่ 5

อรรถกถากุลสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในกุลสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อาธิปจฺเจ ฐเปนฺติ ได้แก่ ตั้งไว้ในตำแหน่งผู้รักษาเรือนคลัง.
จบอรรถกถากุลสูตรที่ 5

6. ปฐมอาชานียสูตร


ว่าด้วยองค์ 4 ของม้าต้น


[259] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา
ประกอบด้วยองค์ 4 ย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ย่อมถึง
การนับว่าเป็นราชพาหนะ องค์ 4 เป็นไฉน คือ ม้าอาชาไนยตัวเจริญของ
พระราชาในโลกนี้ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ 1 สมบูรณ์ด้วยกำลัง 1 สมบูรณ์
ด้วยความเร็ว 1 สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนย
ตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ 4 นี้แล เป็นม้าควรแก่พระราชา
ควรเป็นม้าทรง ถึงการนับว่าเป็นราชพาหนะ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญ
อื่นยิ่งกว่า ธรรม 4 ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยวรรณะ 1 สมบูรณ์ด้วยกำลัง 1 สมบูรณ์ด้วยเชาวน์ 1 สมบูรณ์ด้วย
ทรวดทรง 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะอย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างไร ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรม
เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุ
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังอย่างนี้แล.