เมนู

สิกขาปทสูตรที่ 4 เป็นต้นมีความง่ายทั้งนั้น. ก็ในองค์มรรคทั้งหลาย
ท่านกล่าวว่า เพราะพระโยคาวจรเข้าไปตั้งสติไว้แล้วกำหนดด้วยปัญญา ฉะนั้น
ทั้งสองนั่นแหละเป็นกรรม ที่เหลือเป็นองค์เท่านั้นไม่ใช่กรรม. แม้ในโพชฌงค์
ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนในอภิธรรมท่านพรรณนากรรมทั้งหมดนั้นว่า เป็น
กรรมอันสัมปยุตด้วยเจตนา โดยไม่แปลกกัน.

5. อริยมัคคสูตร


ว่าด้วยกรรมและวิบากของกรรม


[236] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 ประการนี้ เรากระทำให้แจ้ง
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ 4 ประการเป็นไฉน คือ กรรมดำ
มีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว
ก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมดำมีวิบากดำเป็นไฉน บุคคลบางคนใน
โลกนี้ เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระ-
ตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน นี้เราเรียกว่า กรรมดำ
มีวิบากดำ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมขาวมีวิบากขาวเป็นไฉน บุคคลบางคน
ในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิด
ในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการ
พูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็ง มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ
นี้เราเรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว.