เมนู

มหาวรรควรรณนาที่ 5



อรรถกถาโสตานุคตสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในโสตานุคตสูตรที่ 1 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โสตานุคตานํ ความว่า ธรรมที่บุคคลเงี่ยโสตประสาทฟัง
แล้วกำหนดด้วยโสตญาณ. บทว่า จตฺตาโร อานิสํสา ปาฏิกงฺขา ความว่า
คุณานิสงส์ 4 ประการ พึงหวังได้. ก็สูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภ
ด้วยอำนาจอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง. ถามว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่องอะไร.
ตอบว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่อง คือ การที่ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าไปฟังธรรม.
ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ 500 บวชแล้ว ไม่ไปฟังธรรมด้วยคิดว่า พระ-
สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสแต่ลิงค์ วจนะ วิภัติ บท และพยัญชนะเป็นต้น
จักตรัสแต่ข้อที่พวกเรารู้แล้วทั้งนั้น ข้อที่เรายังไม่รู้ จักตรัสอะไรได้ ดังนี้ .
พระศาสดาได้สดับเรื่องนั้นแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ที่บวชเหล่านั้นมาแล้ว
ตรัสว่า เพราะอะไร พวกเธอจึงทำอย่างนี้ พวกเธอจงฟังธรรมโดยความเคารพ
เมื่อฟังธรรมโดยความเคารพ และสาธยายธรรม อานิสงส์เหล่านี้ เท่านี้เป็น
หวังได้ดังนี้ เมื่อทรงแสดงจึงเริ่มเทศนานี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ปริยาปุณาติ ความว่า ภิกษุ
ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ บาลี ซึ่งเป็นนวังคสัตถุศาสน์คำสอนของพระศาสดา
มีองค์ 9 มีสุตตะ เคยยะเป็นอาทิ. บทว่า โสตานุคตา โหนฺติ ความว่า
ธรรมเหล่านั้นก็ย่อมตามไปเข้าโสตเนือง ๆ. บทว่า มนสานุเปกฺขิตา
ได้แก่ ตรวจดูด้วยจิต. บทว่า ทิฏฺฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา ความว่า รู้ทะลุ
ปรุโปร่งดี คือทำให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญาทั้งโดยผล ทั้งโดยเหตุ. พระพุทธพจน์
บทว่า มุฏฺฐสฺสติ กาลํ กุรุมาโน นี้ มิใช่ตรัส เพราะไม่มีสติระลึกถึง

แต่ตรัสหมายถึง การตายของปุถุชน. จริงอยู่ ปุถุชนชื่อว่าหลงลืมสติตาย.
บทว่า อุปปชฺชติ ความว่า ภิกษุตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมเกิดขึ้น
เทวโลก. บทว่า ธมฺมปทา ปิลปนฺติ ความว่า ธรรมคือพระพุทธวจนะ
ที่คล่องปาก อันมีการสาธยายเป็นมูลมาแต่ก่อนทั้งหมด ย่อมลอยเด่นปรากฏรู้
ได้ชัด แก่ภิกษุผู้มีสุข ซึ่งเกิดในระหว่างภพ เหมือนเงาในกระจกใส. บทว่า
ทนฺโธ ภิกฺขเว สตุปฺปาโท ความว่า การระลึกถึงพระพุทธพจน์เกิดขึ้นช้า
คือ หนัก. บทว่า อล โส สตฺโร ขิปฺปเมว วิเสสคามี โหติ ความว่า
ย่อมบรรลุนิพพาน. บทว่า อิทฺธิมา เจโตวสิปฺปตฺโต ได้แก่ พระขีณาสพ
ผู้ถึงพร้อมด้วยฤทธิ์ถึงความเชี่ยวชาญแห่งจิต. ในบทว่า อยํ วา โส ธมฺม-
วินโย
นี้ วา ศัพท์มีอรรถว่า กระจ่างแจ้ง.
บทว่า ยตฺถ คือ ในธรรมวินัยใด. บทว่า พฺรหฺมจริยํ อจรึ
ได้แก่ เราได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์. บทนั้น ตรัสด้วยอำนาจการะลึกถึง
พระพุทธพจน์ว่า ชื่อว่าพระพุทธพจน์แม้นี้ เราก็ได้เล่าเรียนมาแล้วแต่ก่อน.
บทว่า เทวปุตฺโต ได้แก่ เทวบุตรผู้เป็นธรรมกถึกองค์หนึ่ง ดุจปัญจาล-
จัณฑเทวบุตร ดุจหัตถกมหาพรหมและดุจสนังกุมารพรหม. บทว่า โอปปา-
ติโก โอปปาติกํ สาเรติ
ความว่า เทวบุตรผู้เกิดก่อนให้เทวบุตรผู้เกิด
ภายหลังระลึก ทรงแสดงความที่สหายเหล่านั้นสนิทสนมกันมานาน ด้วยบทว่า
สหปํสุกีฬกานั้น. บทว่า สมาคจฺเฉยฺยุํ ความว่า สหายเหล่านั้น พึงไป
พร้อมหน้ากันที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง. บทว่า เอวํ วเทยฺย ความว่า
สหายผู้นั่งก่อนที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง พึงกล่าวอย่างนี้กะสหายผู้มา
ภายหลัง. บทที่เหลือทุกแห่ง พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแล.
จบอรรถกถาโสตานุคตสูตรที่ 1

2. ฐานสูตร


ว่าด้วยฐานะ 4 ที่พึงรู้ด้วยฐานะ 4


[192] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 4 ประการนี้ พึงรู้ด้วยฐานะ 4
ฐานะ 4 เป็นไฉน ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และศีลนั้น พึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการ
อยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ความสะอาดพึงรู้ได้
ด้วยถ้อยคำ
และความสะอาดนั้นพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการ
อยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่
กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย และกำลังใจนั้นแล พึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม้ใช่
เล็กน้อย มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญา-
ทรามหารู้ไม่ ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดย
กาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการจึงจะรู้ ไม่มนสิการหารู้ไม่ คนมีปัญญา
จึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
... คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้ นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร ? บุคคล
ในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้มักทำศีลให้ขาด
มักทำให้ทะลุ มักทำให้ด่าง มักทำให้พร้อย ตลอดกาลนานแล ไม่กระทำ
ติดต่อไป ไม่ประพฤติติดต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นคนทุศีล หาใช่
เป็นคนมีศีลไม่ อนึ่ง บุคคลในโลกนี้ เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้มีปกติไม่ทำศีลให้ขาด ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย
ตลอดกาลนาน มีปกติทำติดต่อไป ประพฤติต่อในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้